เริ่มแล้ว! เทศกาลแข่งเรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2565 เรือยาวใหญ่ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรือยาวกลางทั่วไป ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เรือกลางยาวท้องถิ่น ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เรือเล็กทั่วไปชิงถ้วยเกียรติยศ นายกเทศมนตรี ตำบลกมลาไสย จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 – 25 กันยายน 2565 ณ สนามลำน้ำปาว อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นางสาววิจิตรา ภูโคก นายก ทต.กมลาไสย นายวัชรพงศ์ ชาวสามทอง นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ นักการเมือง หัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น พร้อมด้วยประชาชน ร่วมพิธีเปิดงานอย่างพร้อมเพรียง
นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดเทศกาลแข่งเรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทานในครั้งนี้ว่า “อำเภอกมลาไสย เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำปาว วิถีชีวิตของชาวอำเภอกมลาไสย จึงผูกพันอยู่กับสายน้ำและมีประเพณีการแข่งขันเรือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ส่วงเฮือ” มีมาช้านานเป็นเวลาเกือบร้อยปี เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอกมลาไสย และพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งการแข่งขันเรือของชาวอำเภอกมลาไสย ได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนมาตามกาลเวลา โดยเชิญเรือที่ชนะเลิศจากสนามต่างๆในภาคอีสานมา ร่วมแข่งขันและมีการแข่งขันเรือยาวใหญ่ขนาด 55 ฝีพาย มีเรือชิงแชมป์ถ้วยพระราชทานจากลุ่มน้ำต่างๆทั่วประเทศได้แก่เรือเทพธรรมรัตน์ ไทยน้ำทิพย์ อ.เมือง จ.ปทุมธานีเรือเจ้าแม่ประดู่ทอง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เรือเจ้าขุนเณรไทยคัวยิม จ. นครปฐม เรือเทพแสนชัยสาวภูไท อ.เมือง จ.มุกดาหาร เจ้าแม่ลำพูน จ.ศรีสะเกษ เรือเจ้าแม่คำไหล อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เข้าร่วมการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานฯ และยังอนุรักษ์การแข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น ขนาดไม่เกิน 40 ฝีพายชิงถ้วยพระราชทาน และเรือเล็กทั่วไป 10 ฝีพาย ของพี่น้องชาวเรือ จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของชาวกมลาไสยมาอย่างยาวนาน”
นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ สร้างความภูมิใจให้รักถิ่นกำเนิดตลอดจนอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบทอดต่อไป เสริมสร้างและพัฒนาประเพณีการแข่งขันเรือยาวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอกมลาไสยและพี่น้องชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป เสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีสร้างสัมพันธภาพอันดีงามของชุมชน และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่ง จากภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัท ห้างร้านต่างๆตลอดจนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน”
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “เป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่ได้ทราบว่าพี่น้องชาวอำเภอกมลาไสย ได้จัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์ ติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยถือเป็นงานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม และถือเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ งานวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นเป็นงานสร้างสรรค์ ที่แสดงออกมาถึงความเจริญทางปัญญา ความมั่นคงทางจิตใจ ความเป็นปึกแผ่นของชุมชนและสังคม การที่ท่านทั้งหลายได้ร่วมใจการจัดงานประเพณีขึ้นในครั้งนี้ ผมขอชื่นชมเพราะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคคลชุมชนและสังคม เสริมสร้างความรักให้สามัคคี ความเข้าใจในพื้นฐานวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชุมชนมีศักดิ์ศรี สามารถมีวิถีชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นไทยได้อย่างกลมกลืนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น นับว่าเป็นสิ่งที่ดีงามของชุมชนและสังคมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบไป และสำหรับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ห้างร้าน บริษัท พ่อค้า ประชาชน ที่ร่วมให้การสนับสนุนการจัดงาน ตลอดจนคณะกรรมการจัดงานทุกท่าน ทุกฝ่ายที่ได้เสียสละทำให้การจัดงานครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผมใคร่ขอขอบคุณด้วยความจริงใจไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย”
กำหนดการแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดกาฬสินธุ์ ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2565 ณ สนามแข่งขันเรือยาวประเพณีลำน้ำปาว อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2565
วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565
เวลา 08.30 น. -แข่งขันเรือเล็กทั่วไป(ไม่เกิน 10 ฝีพาย) รายงานตัวเพื่อทำการแข่งขัน
เวลา 09.00 น. – เริ่มการแข่งขันเรือเล็กทั่วไป(ไม่เกิน 10 ฝีพาย) ตามสูจิบัตรการแข่งขัน
วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565
เวลา 08.30 น.
– แขกผู้มีเกียรติและคณะกรรมการจัดการแข่งขันเรือยาวฯ พร้อมกัน ณ กองอำนวยการ
– เรือที่เข้าร่วมการแข่งขันประจำ ณ กองอำนวยการ
– ขบวนพาเหรดเชิญถ้วยพระราชทานเครื่องขบวนจากจุดเริ่มต้น ณ บริเวณ OTOP
– อำเภอกมลาไสย ไปตามเส้นทางร้อยเอ็ด- กาฬสินธุ์ จนถึงกองอำนวยการ
เวลา 09.00 น.
– ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันเรือยาวประเพณีเดินทางมาถึงบริเวณกองอำนวยการ ประธานในพิธีนั่งประจำที่
– เจ้าหน้าที่เชิญถ้วยพระราชทาน ประดิษฐานที่ท่านหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ ณ กองอำนวยการวงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
– ประธานพิธีเปิดธูปเทียนแพ ถวายความเคารพพระบรมสาทิสลักษณ์และยืนประจำแท่นรับฟังการกล่าวรายงาน
– นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวรายงานต่อหน้าประธานในพิธี
– ประธานในพิธีมอบเงินสนับสนุนการจัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดกาฬสินธุ์
– ประธานในพิธีเก่าเปิดงาน และลั่นฆ้องชัย ปล่อยแพป้ายลูกโป่ง และลูกโป่ง วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ เจ้าหน้าที่จุดพลุ และตะไล
– ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติชมการรำเรือส่วง ประกอบตีกลองพังฮาด
– ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติชมการแข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น คู่เปิดสนามและเริ่มการแข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) ตามสูจิบัตร
วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565
เวลา 08.30 น.
– ผู้จัดการเรือยาวกลางทั่วไป ไม่เกิน 40 ฝีพายรายงานตัวรับสูติบัตรการแข่งขัน
เวลา 09.00 น.
– เริ่มการแข่งขันเรือยาวกลางทั่วไปไม่เกิน 40 ฝีพาย ตามสูจิบัตร
วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565
เวลา 08.30 น.
– ผู้จัดการเรือยาวทั่วไป (ไม่เกิน 55 ฝีพาย) รายงานตัวรับสูจิบัตรการแข่งขัน
ผู้จัดการเรือยาวกลางท้องถิ่น และเรือยาวกลางทั่วไป ที่เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ รายงานตัวจับสลากร่อง
เวลา 09.00 น.
– แข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น (ไม่เกิน 40 ฝีพาย)
– เรือยาวกลางทั่วไป (ไม่เกิน 40 ฝีพาย)
– แข่งขันเรือยาวใหญ่ทั่วไป (ไม่เกิน 55 ฝีพาย)
– แข่งขันเรือยาวกลางท้องถิ่น (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) เรือยาวกลางทั่วไป (ไม่เกิน 40 ฝีพาย) เรือยาวใหญ่ทั่วไป (ไม่เกิน 55 ฝีพาย) รอบชิงชนะเลิศ ตามสูจิบัตร
เวลา 15.00 น.
– พิธีปิดการแข่งขัน
-เรือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศทุกประเภท พร้อมกันที่หน้ากองอำนวยการ
– พิธีกรเชิญผู้จัดการเรือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศทุกประเภท ตั้งแถวที่หน้ากองอำนวยการ
– ประธานในพิธีประจำแท่นรับฟังการกล่าวรายงาน
– ประธานดำเนินการแข่งขันกล่าวรายงานสรุปผลการแข่งขัน และเชิญผู้จัดการเรือที่ชนะเลิศทำพิธีรับถ้วยพระราชทาน จากแท่นประดิษฐ์ฐาน หน้าพระบรมสาริสลักษณ์
– ประธานในพิธีและแขกผู้มีเกียรติ มอบถ้วยเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัลให้แก่เรือประเภทต่างๆตามลำดับ
– ประธานในพิธีกล่าวปิดงาน เจ้าหน้าที่จุดพลุ ตะไล เสร็จพิธี
สนับสนุนโดย จังหวัดกาฬสินธุ์/ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์/ เทศบาลตำบลกมลาไสย/ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอกมลาไสย ห้างร้าน บริษัท พ่อค้า ประชาชน
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com