จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดงาน “มาฆปูรณมีบูชา” ทะเลธุงอีสาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการรำบูชาพระธาตุยาคูจากนางรำทุกอำเภอกว่า 3,000 คน และร่วมถวายธุงกว่า 800 ต้น สักการะพระธาตุยาคู
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.00 น. ที่บริเวณโบราณสถานพระธาตุยาคู อำเภอกมลาไสย นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย นางสิริวิมล พงษ์อักษร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม นายธนภัทร ณ ระนอง นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ และชาวบ้านจากทุกอำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ร่วมขบวนแห่พานบายศรี เครื่องสักการะพระธาตุยาคู จากคูเมืองฟ้าแดดสงยาง ผ่านซุ้มประตูเมือง ไปยังพระธาตุยาคู จากนั้นนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ประธานในพิธีประกอบพิธีบวงสรวงพระธาตุยาคู และถวายธุงสักการะ พระธาตุยาคู ต่อจากนั้นนางรำจากทุกอำเภอกว่า 3,000 คน ได้ร่วมรำบูชาพระธาตุยาคู ด้วยท่ารำที่อ่อนช้อยสวยงาม
งานประเพณีเทศกาล “มาฆปูรณมีบูชา” ทะเลธุงอีสาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำปี 2567 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยางพระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งในงานจะมีกิจกรรมมากมาย อาทิเช่น การทำบุญตักบาตร การเวียนเทียนภาคค่ำในวันมาฆบูชา การสักการะพระธาตุยาคู การจัดบูธร้านค้าของดีจังหวัดกาฬสินธุ์และสินค้า OTOP การแสดง แสง สี เสียง มินิไลท์แอนด์ซาวด์ และในปีนี้ทางจังหวัดเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมถวายธุง เพื่อสักการะแด่องค์พระธาตุยาคู และมีการนำต้นธุงที่เป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเรียงกันเป็นเลข 10 และนำต้นธุงที่เป็นสีม่วง ซึ่งเป็นสีของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีฯ มาเรียงไว้รอบๆ ส่วนบริเวณรอบนอกจะเป็นธุงหลากสี ตามความชอบและความสะดวกของผู้มีจิตศรัทธาที่มาร่วมถวายธุง จำนวนกว่า 800 ต้น ทำให้เกิดเป็นทะเลธุงที่สวยงาม รอรับนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและถ่ายรูปกับทะเลธุง
นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานมาฆปูรณมีบูชา นับว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดที่เป็น Soft Power ของจังหวัดมาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยังเป็นการอนุรักษ์ พื้นฟู ถ่ายทอดและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
และให้คงอยู่เป็นประเพณี วัฒนธรรมของจังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างยั่งยืนตลอดไป
ขอบคุณภาพ/ข่าว จาก ปชส.กาฬสินธุ์