จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ออกแบบลวดลายบนตัวมาสคอตไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ บริเวณสามแยกโนนตาลฝั่งทางเข้าตัวเมืองเส้นกาฬสินธุ์-ยางตลาด ในรูปแบบสดใสสไตล์เทรนด์ใหม่ จากไดโนเสาร์สีเขียวธรรมดา ให้เป็นไดโนเสาร์สีฟ้าลายดอก ตั้งสง่าต้อนรับผู้ใช้เส้นทางและนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้ามายังจังหวัดกาฬสินธุ์ได้อย่างสวยงาม ซึ่งเป็นไดโนเสาร์คอยาว สายพันธุ์ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” ยืนอยู่หลังใบเสมายักษ์ ให้นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถแวะลงไปถ่ายรูปเช็คอินได้เป็นอย่างสวยงาม
ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Phuwiangosaurus sirindhornae) หมายความว่า “สัตว์เลื้อยคลานยักษ์แห่งภูเวียง” เป็นชื่อสกุลของไดโนเสาร์ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ในหมวดหินเสาขัว อายุราวยุคครีเตเชียสตอนต้น ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด (sauropod – ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว) ชนิดแรกที่บรรยายลักษณะจากประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่ม Titanosaur ซึ่งเป็นซอโรพอดขนาดกลาง ความยาวประมาณ 15-20 เมตร โดยตัวอย่างต้นแบบ (type specimens) พบที่ภูเวียง อำเภอภูเวียง (อำเภอเวียงเก่า ในปัจจุบัน) จังหวัดขอนแก่นเมื่อปี พ.ศ. 2525 และได้รับการบรรยายลักษณะเมื่อปี พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994)
พบกระดูกภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน จากหลายแหล่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแหล่ง วัดสักกะวัน ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สิรินธร ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว) ซึ่งพบโครงกระดูกอย่างน้อย 6 ตัว จำนวนมากกว่า 800 ชิ้น และแหล่งภูเวียง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น สถานที่พบเป็นครั้งแรก (type locality) พบกระดูกของพวกวัยเยาว์ ขนาดประมาณ 2 เมตร สูง 0.5 เมตรรวมอยู่ด้วย
กรมทรัพยากรธรณีขอพระราชทานชื่อชนิดจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านที่สนพระทัยงานในด้านธรณีวิทยา และบรรพชีวินวิทยาในประเทศไทย
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com