ขึ้นปี พ.ศ. 2567 เรื่องเล่าจาก ครู ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุมาลี ใจยสิทธิ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตกาฬสินธุ์ เมื่อปี 2482 เริ่มการก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ ที่แก่งดอนกลาง จังหวัดมหาสารคาม และในวันที่ 1 ตุลาคม 2490 อำเภอกาฬสินธุ์ ยกฐานะเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่พื้นแก่งดอนกลางตามทะเบียนพัสดุ 91 ไร่ เป็นแก่งน้ำล้อมรอบ จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นโรงเรียนอยู่ประจำ มีนักเรียนในจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียง มีความสนใจเข้ามาเรียนจำนวนมาก โรงเรียนเกษตรกรรมกาฬสินธุ์พัฒนาการเรียนการสอนอย่างรวดเร็วมาก พื้นที่แก่งดอนกลางไม่สามารถรองรับนักเรียนได้
ปี พ.ศ.2496 นายกิตติ บัวทอง อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ พร้อมคณะครู ได้ทำการแลกเปลี่ยนที่ดินแก่งดอนกลาง ไปอยู่บ้านดงปอ ซึ่งเป็นที่ดินของเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่ 525 ไร่ ตั้งอยู่ถนนสายกาฬสินธุ์ – สกลนคร พื้นที่ป่ารกร้างปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ 3 กิโลเมตร โรงเรียนเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ จึงเป็นที่รู้จักกันมาในนาม โรงเรียน “เกษตรดงปอ” จัดการเรียนการสอนในระดับเกษตรมัธยมตอนต้น และมัธยมตอนปลาย ผ่านการบุกเบิกจากรุ่นพี่ รุ่นดงปอ จับจอบ มีด เสียม ขุดดิน ขุดหัวตอ จากรุ่น สู่รุ่น ในการปรับพื้นที่ให้โล่งเตียนเพื่อการก่อสร้างอาคารเรียน โรงเรือนปศุสัตว์ หอพักนักเรียน พร้อมประกาศรับนักเรียนจากทั่วประเทศไทย นักเรียนชายอยู่ประจำหอพัก นักเรียนหญิงเดินเรียนแบบไปกลับ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ ออกไปประกอบอาชีพรับราชการถ้วนหน้า ข้าราชการครู เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เจริญก้าวหน้าตามสาขาอาชีพ การเริ่มต้นก่อตั้ง พ.ศ.2482 ยังไม่มีการนับรุ่น
ในปี พ.ศ.2506 นักเรียนโรงเรียนเกษตรกรกาฬสินธุ์ จึงมีแนวคิดนับรุ่น จัดตั้งรุ่นที่ “เกษตรดงปอ รุ่นที่ 1” ในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสายอายอาชีพ แผนกเกษตรกรรม (ม.ศ.6) และนับต่อเนื่องกันมา ในรั้ว “เขียวขาวเหลือง” ในปี 2510 โรงเรียนเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ “เกษตรดงปอ” กรมอาชีวศึกษา ได้เข้าโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา (กพอ.) ได้รับงบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารหอพัก จำนวนหลายหลัง “เกษตรดงปอ” ได้รับการพัฒนาเจริญมากขึ้น มีนักเรียน นักศึกษาจากทั่วประเทศ เข้ามาศึกษามากยิ่งขึ้น ถือได้ว่า “เกษตรดงปอ” ได้เป็นพื้นฐานของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาออกไปทำงาน ประกอบอาชีพส่วนตัว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และศึกษาต่อ สาขาเกษตรกรรม และในระดับสาขาอื่น จากการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกเกษตรกรรม สายอาชีพแผนกเกษตรกรรม สู่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แผนกเกษตรกรรม (ปวช.) ยกระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แผนกเกษตรกรรม ที่นี่นักเรียนทำงานร่วมกัน ร่วมเรียน ก่อให้เกิดความรัก สมัครสมานสามัคคี รุ่นพี่ รุ่นน้อง ด้วยเลือดอันเข้มข้นของเกษตรดงปอ เขียวขาวเหลือง
ในปี พ.ศ. 2517 ยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ สังกัดกรมอาชีวศึกษา จัดการเรียนการสอนในระดับประกาศบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปว.ส.) เกษตรกรรม ในปีต่อมา พ.ศ. 2518 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2518 ได้แยกออกจากกรมอาชีวศึกษา ตราเป็นพระราชบัญญัติ “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวิศึกษา” วิทยาเขตเกษตรกาฬสินธุ์ (วิทยาเขตเกษตรจะมีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ) มีฐานะเป็นกรม มี “อธิการบดี” เป็นตำแหน่งบริหารสูงสุด จัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปว.ส.) แผนกเกษตรกรรม
ปี พ.ศ.2531 (13 กันยายน) ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชการที่ 9 เป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” มีสถานศึกษา กรม กอง สำนักงานต่างๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และให้เติมวิทยาเขตต่อท้าย สำหรับเกษตรกาฬสินธุ์ จึงมีชื่อว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตกาฬสินธุ์” จัดการเรียนการสอนเป็นสหวิทยาการ เปิดการเรียนหลายสาขา มีทั้ง เกษตรศาสตร์ สายบริหารธุรกิจ สายช่างอุตสาหกรรม ฯลฯ ในระดับปริญญาตรี (วทบ.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปว.ส.) สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย หรือสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
ปี พ.ศ. 2548 (19 กันยายน) ได้ยกฐานะและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน” สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา การเรียกชื่อมหาวิทยาลัย จึงเปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์
ในปี พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็น “มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์” จากการรวม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ นับต่อจากนี้นไปโรงเรียนเกษตรกรรมกาฬสินธุ์ “แก่งดอนกลาง” และ “เกษตรดงปอ” ที่เหล่าศิษย์เก่าทั้งหลายได้มุ่งมั่น อุทิศแรงกาย พลังแรงใจ ก่อสร้าง บุกเบิกด้วยกันมา จนมีความเจริญก้าวหน้า และพัฒนาเป็น “มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์” ด้วยความภาคภูมิใจ จะเป็นเพียงอดีตที่อยู่ในความทรงจำของเราชาว “เขียว ขาว เหลือง” อย่างไม่มีวันลืมเลือน
ด้วยความรักและปรารถนดีจาก ครู ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุมาลี ใจยสิทธิ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตกาฬสินธุ์ ผู้เรียบเรียงและให้ข้อมูลไว้ เมื่อ 27 กันยายน 2564
วัชรินทร์ เขจรวงศ์ ดงปอ 16 รายงาน 22 ม.ค. 67