วนเกษตรบ้านโฮม โดย นายวัชรพงศ์ ชาวสามทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ร่วมกับผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องจักรกลทางการเกษตรและโซล่าเซลล์ เล็งเห็นถึงประโยชน์ของกิจกรรมโคกหนองนาและสินค้า OTOP จึงจะมีการจัดโครงการ “ โคก หนอง นา พารวย ” เพื่อเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสมาชิกโครงการโคกหนองนา ในอำเภอยางตลาดและใกล้เคียง รวมไปถึงผู้ที่มีความสนใจเข้าร่วมงาน จำนวน 600 ท่าน ในวันพฤหัสบดี ที่ 26 พฤษภาคม 2565 ณ. วนเกษตรบ้านโฮม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
นายวัชรพงศ์ ชาวสามทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เจ้าของวนเกษตรบ้านโฮม กล่าวว่า ในงานวันดังกล่าว จะมีการสาธิตวิธีการปรุงดินปลูกโดยไม่พึ่งพาสารเคมี / แจกพันธุ์กล้ามะรุม การจัดแสดงเครื่องจักรทางการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเอกชน การจัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตร อาทิเช่น ระบบน้ำอัจฉริยะ, เตาเผาถ่านไร้ควันได้น้ำส้มควันไม้ และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีทางการเกษตรประหยัดพลังงานไม่พึ่งพาน้ำมันที่มีราคาสูงเพื่อลดต้นทุนการผลิต มีการออกบูธจัดแสดงสินค้าโปรโมชั่นภายในงาน จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้า OTOP และกิจกรรมแจกของรางวัลของชำร่วยภายในงาน จึงขอเชิญทุกท่าน ไม่จำเป็นว่าท่านจะเก่งด้านเกษตรมาแล้ว หรือยังไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรมาเลย ก็สามารถเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานนี้ได้เช่นกัน ในวันพฤหัสบดี ที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น. เป็นพิธีเปิดตลาด “โคก หนอง นา พารวย ” หลังจากนั้นจะเป็นการชมบูธแสดงสินค้า เครื่องจักร เทคโนโลยีทางการเกษตร
โคก-หนอง-นา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ
โคก-หนอง-นา โมเดล ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังนี้
1. โคก: พื้นที่สูง
– ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ
– ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
– ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ
2. หนอง: หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ
– ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก)
– ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้
– ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง
– พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก
3. นา:
– พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน
– ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา
โดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
แล้วพบกันในงาน มินิเกษตรแฟร์ 26 พ.คนี้ เปิดตลาด “โคก หนอง นา พารวย “จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์และ สินค้า OTOP สอบถามโทร. 093-373-8354 จัดที่ #บ้านโฮมสวนอาหารแอนด์รีสอร์ท #โคกหนองนาพารวย #เกษตรอินทรีย์ #มินิเกษตรแฟร์
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com