• จันทร์. มี.ค. 31st, 2025

อนุชาเผย ซื้อหนี้ประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่สมัย ร.6

กาฬสินธุ์ อนุชาเผย ซื้อหนี้ประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่สมัย ร.6

กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2568 เวลา 20.51 น. ที่เฟสบุ๊กผู้ใช้บัญชีชื่อ “อนุชา สิงหะดี” ที่มีผู้ติดตาม 2 หมื่นคน ได้โพสต์ข้อความแบบสาธารณะว่า “ซื้อหนี้ประชาชน “ซื้อ-ขาย” กันแบบไหน? (ไม่ใช่เรื่องใหม่) มีมาตั้งแต่สมัย ร.6 โน่น!”

และยังได้อธิบายอย่างละเอียดถี่ยิบด้วยว่า “หลายคนคงอยากจะทราบเรื่อง… #ซื้อหนี้ประชาชน ว่าเป็นอย่างไร? แนวคิดดังกล่าวนี้ มาจาก อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พูดไว้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งก็สร้างความฮือฮา กระตุ้นการอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะประชาชนชาวรากหญ้า ผู้เป็นหนี้ทั้งหลาย”

ก่อนอื่น! ผมอนุชา สิงหะดี จะขออนุญาตพาพี่น้องมาเท้าความถึงที่มาที่ไปก่อนว่าเป็นอย่างไร?

เรื่อง #ซื้อหนี้ประชาชน ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2467) หรือเมื่อ 101 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการบัญญัติเรื่องนี้ไว้ใน “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” #บรรพ2 #หนี้ #หมวด4 #โอนสิทธิเรียกร้อง

ภาษากฎหมาย เรียกว่า… #โอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ และถูกแปลงมาเป็น ภาษาทางการเมือง ว่า… #ซื้อหนี้ประชาชน

กล่าวคือ… ในอดีตที่ผ่านมาหรือกระทั้งในปัจจุบันนี้ ก็มีการ #โอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ หรือการ #ซื้อหนี้ประชาชน เป็นปกติอยู่แล้ว (คือบริษัทรับทวงหนี้ ซื้อหนี้จากธนาคารไปทวงเอง)

ขอยกตัวอย่าง ให้เข้าใจง่ายๆ เช่น… “นาย ก. เป็นหนี้ธนาคาร ข. จำนวน 100,000บาท และไม่มีความสามารถในการชำระเงินคืนธนาคารได้ หรือที่เรียกกันว่าเป็นหนี้เสีย คือ #ไม่มี #ไม่หนี #ไม่จ่าย

จากนั้น ธนาคาร ข. ได้ขายและโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ 100,000บาทดังกล่าว ต่อให้กับบริษัท ค. (บริษัทรับทวงหนี้) ในราคา 30,000บาท ซึ่งบริษัท ค. ก็จะกลายเป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายของนาย ก. และก็มีสิทธิในการทวงหนี้เต็มจำนวน คือ 100,000บาท จากนาย ก.

ส่วนว่า บริษัท ค. จะทวงหนี้ 100,000บาท จากนาย ก. ได้? หรือทวงไม่ได้? หรือจะทวงแค่ 70,000บาท หรือ 50,000บาท หรือยอดอื่นๆ หรืออาจจะทวงไม่ได้สักบาทเลย ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและนโยบายการบริหารจัดการของบริษัท ค. ที่ซื้อหนี้นั้นมาจากธนาคาร ข.แล้ว

นี้คือ!… อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งในทางธุรกิจ หรือในทางกฎหมาย หรือในทางหนี้ เขาจะใช้คำว่า…#โอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ แต่ถ้าเป็นภาษา “การเมือง” เขาก็จะใช้คำที่ดูตื่นเต้นๆหน่อย เช่นคำว่า… “ซื้อหนี้ประชาชน” ซึ่งก็คือความหมายเดียวกันนั้นเอง

ส่วนหนี้ที่เป็นปัญหาใหญ่ในระดับชาติ ที่รัฐบาลพยายามแก้ไขอยู่ คือหนี้แบบไหน??? อย่างไร???

ผมขอแยกอธิบาย เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้…
#แบบที่1 คือ… หนี้! ที่ลูกหนี้ เป็นหนี้ (จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่ก็ตามแต่) แล้วผ่อนจ่ายได้ปกติ จนครบตามสัญญา แบบนี้คือลูกหนี้ชั้นดี (เจ้าหนี้ชอบ)… แบบนี้ไม่เป็นปัญหา

#แบบที่2 คือ… หนี้! ที่ลูกหนี้ เป็นหนี้ (มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือมีทรัพย์สินอื่นๆ) เมื่อผ่อนไม่ไหว ลูกหนี้ผิดสัญญา เจ้าหนี้ก็จะฟ้อง บังคับคดี นำทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด นำเอาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้… แบบนี้ก็ไม่เป็นปัญหา

#แบบที่3 คือ… หนี้! ที่ลูกหนี้ เป็นหนี้ (ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และลูกหนี้ก็ไม่มีทรัพย์สินใดๆอีกด้วย) คือลูกหนี้ใช้วิธี “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย”… แบบนี้เป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาระดับชาติด้วย

ซึ่งหนี้ในแบบที่ 3 คือหนี้เสีย หนี้ที่ธนาคาร หรือเจ้าหนี้ ปวดกระบาลมากที่สุด คือทวงอย่างไรก็ไม่ยอมจ่าย และทรัพย์สินก็ไม่มีให้ยึดมาขายทอดตลาดอีกด้วย ซึ่งหนี้ตามแบบที่ 3 นี้ มีลูกหนี้ทั่วประเทศหลายล้านราย

ข้างต้นนั้น เป็นการกล่าวถึงที่มาที่ไป พอให้ทุกๆท่านได้เห็นลักษณะของหนี้ในแต่ละลักษณะ ว่าเป็นแบบไหน

เอาล่ะ! มาถึงตรงนี้แล้ว หลายท่านผู้เป็นหนี้คงอยากรู้ว่า หากรัฐมีนโยบาย #ซื้อหนี้ประชาชน เกิดขึ้นจริงๆ…
– #เราประชาชนผู้เป็นหนี้จะไม่ต้องใช้หนี้แล้วใช่ไหม???
– #รัฐจะมาใช้หนี้แทนเราใช่ไหม???
– #และเมื่อเราขายหนี้แล้วเราจะได้เงินใช่ไหม???
คำตอบคือ… #ไม่เลย “ประชาชนที่เป็นหนี้ ก็ยังคงเป็นหนี้อยู่เหมือนเดิม ยอดหนี้เดิม และก็ต้องหาเงินมาจ่ายหนี้อยู่เช่นเดิม”
(หนี้ไม่ได้หายไปไหน! และก็ไม่มีใครมาใช้หนี้แทนเราด้วย)
#แค่หนี้ของเราเปลี่ยนที่อยู่เท่านั้นเอง คือ #แค่เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ส่วนหนี้ก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่ได้หายไปไหน
หลักการที่รัฐบาลจะทำในเรื่อง” ซื้อหนี้ประชาชน” ก็คือ…
ธนาคารพาณิชย์ใด? ที่มีหนี้เสียอยู่ ต้องการขาย (ถูกๆ) ก็รวบรวมยอดมา รัฐหรือกองทุนร่วมของรัฐกับเอกชนที่ตั้งขึ้น ก็อาจจะระดมเงินไปประมูลซื้อหนี้เหล่านั้นมา ยกตัวอย่างเช่น…
ธนาคาร ก. มีหนี้เสีย ที่ต้องการขาย(เพราะทวงหนี้ไม่ได้) มียอดหนี้รวม 1,000 ล้านบาท
ธนาคาร ข. มีหนี้เสีย ที่ต้องการขาย(เพราะทวงหนี้ไม่ได้) มียอดหนี้รวม 10,000 ล้านบาท
ธนาคาร ค. มีหนี้เสีย ที่ต้องการขาย(เพราะทวงหนี้ไม่ได้) มียอดหนี้รวม 100,000 ล้านบาท
กองทุนร่วมของรัฐกับเอกชนที่ตั้งขึ้นมา ก็จะมาประมูลและซื้อเอาหนี้จากธนาคาร ก, ข, ค เหล่านั้นไป เช่น…

ประมูลได้จากธนาคาร ก. ในราคา 300 ล้านบาท
ประมูลได้จากธนาคาร ข. ในราคา 3,000 ล้านบาท
ประมูลได้จากธนาคาร ค. ในรารา 30,000 ล้านบาท
จากนั้น! กองทุนร่วมของรัฐกับเอกชนก็จะนำหนี้ที่ซื้อมา ซึ่งมียอดหนี้เต็มรวม 111,000 ล้านบาท มาบริหารจัดการ (คือมาทวงหนี้กับประชาชนที่เป็นหนี้)
กล่าวคือ… #จากเดิมประชาชนเป็นหนี้ธนาคารพาณิชย์ #ก็จะกลายมาเป็นหนี้กองทุนร่วมของรัฐแทน ส่วนยอดหนี้ก็ยังคงเหมือนเดิม แค่หนี้ถูกเปลี่ยนคนทวงเท่านั้นเอง
ส่วนว่า! กองทุนร่วมฯ เขาจะทวงยอดเต็ม หรืออาจจะทวงแค่ 80% หรือ 60% หรือ 40% ของยอดหนี้ทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถหรือนโยบายของกองทุนฯ ว่าจะบริหารจัดการหนี้ที่ซื้อมานั้นอย่างไร เพื่อให้ได้รับการชำระเงินคืนมากที่สุด

คำถามคือ…??? ใคร??? #ได้ประโยชน์จากนโยบาย #ซื้อหนี้ประชาชน ดังกล่าว…
– #คำตอบแรก คือ… ธนาคารพาณิชย์ได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะสามารถที่จะขายหนี้เสียได้ทีเดียวก้อนโตๆ ไม่ต้องมาประมูลขายให้กับบริษัทเอกชนรายย่อย 10 หรือ 20 บริษัท ให้ยุ่งยากในการบริการจัดการ (ขายทีเดียวตู้ม!!! จบเลย) คือ กำขี้ดีกว่ากำตด
– #คำตอบที่สอง คือ… ประชาชนผู้เป็นลูกหนี้ก็มีส่วนได้ประโยชน์ด้วย กล่าวคือ…
– ได้ต่อลมหายใจออกไปอีก คืออาจจะยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปให้อีก หรือ…
– อาจให้ผ่อนจ่ายน้อยๆ ผ่อนนานๆ จนครบ หรือ…
– อาจลดต้น ลดดอก เพื่อจูงใจในการชำระหนี้ หรือ…
– อาจพักชำระหนี้ เป็นระยะๆ (เอาใจลูกหนี้) หรือ…
– อาจเสนอให้ปิดยอดที่ต่ำมากๆ โดยให้จ่ายเป็นเงินก้อนเดี่ยว เช่นมี ยอดหนี้ 100,000 บาท ปิดแค่ 35,000 บาท เพื่อให้หนี้เลิกกันไป
– หรือวิธีการอื่นๆ

ซึ่งที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น ก็เป็น(หลักการ)โดยคร่าวๆของแนวคิด… “ซื้อหนี้ประชาชน”
ส่วนว่ารัฐบาลจะทำจริงและหรือจะทำได้หรือไม่นั้น? ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป
หรืออาจจะเป็นเพียงแค่การโยนหินถามทาง เพื่อเตรียมนำแนวคิดนี้ (ซื้อหนี้ประชาชน) มาเป็นนโยบายใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า ของพรรคการเมืองใหญ่ ตามสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ก็อาจเป็นได้ ซึ่งก็ต้องติดตามดูกันต่อไปเช่นกัน

สรุป…!!! สรุป…!!! สรุป…!!!
“ซื้อหนี้ประชาชน”
หนี้ไม่ได้หายไปไหน
ยังคงเป็นหนี้อยู่เหมือนเดิม
ไม่มีใครใช้หนี้แทนเรา
เป็นแค่การย้ายหนี้ที่อยู่ของหนี้ จากเจ้าหนี้คนหนึ่ง ย้ายไปให้อีกคนหนึ่งเป็นเจ้าหนี้แทน (เท่านั้นเอง)
ลูกหนี้ ก็ยังคงต้องใช้หนี้อยู่เหมือนเดิม
ส่วนว่า! จะได้ชำระหนี้ในยอดเต็มจำนวน หรือไม่?อย่างไร? ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้รายใหม่ที่เขาจะบริหารจัดการ (แต่ที่รู้คือ เขาคงไม่ยอมขาดทุนแน่นอน)… จบข่าว!!!

ท้ายโพสต์นี้ ฝากกดติดตามเฟสฯ ไว้นำแนเด้อครับ มีเรื่องอะไรจะได้นำมาเว้าจาสู่พี่น้องฟังครับ/ ขอบคุณครับ
อนุชา สิงหะดี

อย่างไรก็ตาม คุณอนุชาฯ ยังเคยมีตำแหน่งเป็นอดีตอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ สภาปฎิรูปแห่งชาติ

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/anucha.kalasin