มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ดำเนินงานวิจัยโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงบูรณาการแบบร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งนักวิจัยลงเก็บข้อมูลผู้มีรายได้น้อยเชิงลึกอย่างรอบด้านเพื่อออกแบบการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด พร้อมเตรียมนำร่องหมู่บ้านต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจน
รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่ติดอันดับความยากจนอันดับต้นๆของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางจังหวัดได้จัดโครงการคนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือ กาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จึงได้ต่อยอดด้วยการทำวิจัยขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืน โดยทำงานร่วมกับทางจังหวัดในการนำฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยจากโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล และ TPMAP หรือ Thai People Map and Analytics Platform มาดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงลึก ดูความทับซ้อนของข้อมูลของผู้มีรายได้อย่างละเอียดรอบด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์และออกแบบวิทยาการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมและผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
“การทำวิจัยครั้งนี้ต้องสามารถนิยามคำว่าคนจนของจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ว่ามีกี่รูปแบบ กี่มิติ เพื่อนำมาออกแบบการแก้ไขปัญหาในแต่ละรูปแบบ แล้วนำไปเข้าบรรจุเป็นแผนของจังหวัดและท้องถิ่นและในอนาคตทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จะทำโครงการหมู่บ้านนำร่องต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับทางจังหวัดในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป” อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าว