ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 ผู้ปกครองหลายท่านที่กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งมีการจัด กิจกรรมสำหรับคุณน้องๆหนูๆ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ คงเป็นอีกตัวเลือกให้กับผู้ปกครองที่จะพาลูกหลานไปเที่ยว เพราะนอกจากจะได้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เด็กๆยังจะได้รับความรู้ในเรื่องของโลกดึกดำบรรพ์อีกด้วย
นางสาวอรอุมา สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2562 กรมทรัพยากรธรณี โดยพิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอส่งมอบความสุขให้กับนักท่องเที่ยวทุกท่าน โดยพิพิธภัณฑ์สิรินธร จะเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2561 จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2562 โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 17.00 น. และพิพิธภัณฑ์สิรินธรจะปิดปรับปรุงเพื่อบำรุงรักษาส่วนจัดแสดง ในวันที่ 2 และ 3 มกราคม 2562
จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีการขุดพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว ในพื้นที่อำเภอสหัสขันธ์ซึ่งพบชิ้นแรกเมื่อปี 2537 โดยพระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยพบท่อนกระดูกโผล่จากพื้นดินในบริเวณที่เป็นหลุมขุดค้นปัจจุบัน ต่อมาคณะสำรวจจากกรมทรัพยากรธรณีจึงได้ทำการสำรวจขุดค้นอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งพบกระดูกไดโนเสาร์ขนาดต่างๆ เป็นกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชมากกว่า 7 ตัว จำนวนกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น ที่สำคัญคือ พบชิ้นส่วนของหัวกระโหลก ฟันและกราม และโครงกระดูกที่เรียงรายต่อกัน เกือบจะสมบูรณ์ทั้งตัวอยู่ด้วย
ซากกระดูกไดโนเสาร์ที่พบในครั้งนั้น นับเป็นหลักฐานสำคัญ ที่มีคุณค่ายิ่งในด้านการศึกษาวิจัยถึงเรื่องราว ประวัติความเป็นมาในอดีตอันยาวนาน และสามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการของโลก เพราะไดโนเสาร์ที่พบเป็นสกุลและชนิดใหม่ของโลก จึงได้มีการสร้างอาคารวิจัยซากไดโนเสาร์และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ รวมทั้งสวนไดโนเสาร์ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัย แหล่งเผยแพร่ความรู้ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย
นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาเที่ยว จะสัมผัสเรียนรู้โลกดึกดำบรรพ์ผ่านจุดสำคัญสองแห่งคือ บริเวณหลุมขุดค้น ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยจัดแสดงซากกระดูกไดโนเสาร์ในลักษณะอาการคลอบหลุมขุดค้น และส่วนของพิพิธภัณฑ์สิรินธร ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยา โดยภายในอาคารมีการจัดแสดงซากกระดูกไดโนเสาร์ และแสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในมุมมองต่างๆ ทั้งเชิงวิชาการ การอนุรักษ์ รวมไปถึงความสัมพันธ์ต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การกำเนิดโลก ส่วนที่ 2 การกำเนิดของสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงไดโนเสาร์ จนถึงการกำเนิดมนุษย์ ส่วนที่ 3 เป็นนิทรรศการหมุนเวียน