ที่เฟสบุ๊กผู้ใช้บัญชีชื่อ “พระครูโพธิจันทคุณ สุริโย” ได้โพสภาพพร้อมบรรยายข้อความไว้ว่า “สภาพอย่างที่เห็น อาตมาขอบิณฑบาต องค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบมาแก้ไขปัญหา สารพิษ ลำห้วยแกง ที่ได้รับผลกระทบอยู่ ขณะนี้ เพื่อปากท้องพี่น้องประชาชนที่อาศัยแหล่งน้ำเป็นที่ทำมาหากิน อย่าให้เกิดผลกระทบไปมากกว่านี้เลย อาตมาขอบิณฑบาต รีบแก้ไข และรับผิดชอบโดยเร็ว สมกับคำขวัญที่ว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว อ่างห้วยแกงแหล่งเกษตร ขอให้ทรัพยากรในน้ำจงกลับมาอุดมสมบูรณ์ ให้ เหมือนเดิม ด้วยเถอะ”
ซึ่งหลังจากโพสดังกล่าวถูกเผยแพร่สาธารณะผ่านโลกโซเชียล ก็ได้มีชาวบ้านที่ได้รับความเดือนร้อน ติดต่อมายังผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ช่วยนำเสนอข่าว เพื่อให้หน่วนงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน หากปล่อยไว้อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่านี้ เสียทั้งระบบนิเวศ สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในลำห้วย และยังส่งผลเสียถึงชาวนา ที่อาศัยน้ำในลำห้วยสูบเข้านาปรัง แต่หลังจากพบสภาพน้ำเน่าเสีย ก็ไม่มีใครกล้าสูบน้ำไปใช้ เพราะกลัวน้ำอาจจะมีสารพิษเจอปนทำให้ต้นข้าวแห้งตาย
ล่าสุดช่วงบ่ายของวันนี้ (21 ก.พ. 2566) นายเวนิช ชูศรีพัฒน์ นายอำเภอดอนจาน พร้อมด้วย นายทองปุ่น การภักดี นายกเทศมนตรีตำบลม่วงนา นายจรรยา ทัดบุปผา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 เดินทางไปร่วมปรึกษาหารือการปล่อยลงน้ำอ่างห้วยแกงเพื่อลดความเข้มข้นของสารพิษ กรณีคันกั้นน้ำบ่อบำบัดน้ำเสียโรงขยะของหน่วยงานแห่งหนึ่งขาด น้ำเสียไหลลงอ่างห้วยแกง ทำให้ปลาตายและน้ำเสียเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายต่อราษฎรในพื้นที่
นายเวนิช ชูศรีพัฒน์ นายอำเภอดอนจาน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า “หลังจากที่ได้รับแจ้งจากทางกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตตำบลม่วงนา ทางอำเภอก็ได้สั่งการให้ปลัดอำเภอร่วมกับทางสาธารณสุขและทางเกษตร ประสานงานกับเทศบาลม่วงนา ในการลงพื้นที่มาตรวจสอบ ได้นำเครื่องตรวจวัดค่าออกซิเจนในน้ำ ซึ่งผลการตรวจสอบไม่มีออกซิเจนในน้ำเลย เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาตาย ส่วนน้ำที่ไหลลงมาในลำห้วย เป็นน้ำเสียจากโรงกำจัดขยะของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ซึ่งเกิดจากน้ำทะลักทำให้คูกั้นน้ำจากบ่อขยะขาดไหลลงมาสู่ลำห้วยสาธารณะในเขตของอำเภอดอนจาน ซึ่งทางเราก็ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เป็นเจ้าของบ่อกำจัดขยะไปแล้ว และเขาก็ได้มาทำการปิดคูกั้นน้ำไว้แล้ว แต่เนื่องจากน้ำเสียที่ไหลลงมาอยู่ในลำห้วย มีมวลน้ำปริมาณมาก ทำให้น้ำไหลจากเขตอำเภอดอนจานไป จะเข้าเขตของอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ คาดว่าถ้าเราไม่ทำการปิดกั้นหรือรีบแก้ไขปัญหาน้ำเสียอาจจะไหลไปไกลถึงอำเภอกมลาไสยและอำเภอร่องคำ เพราะเป็นสายน้ำที่ต่อเนื่องกัน ในส่วนของเราก็ได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหา ทั้งแจ้งเตือนเกษตรกรว่าตอนนี้อย่าเพิ่งนำน้ำจากลำห้วยแห่งนี้ไปใช้เกี่ยวกับการเกษตร ขณะเดียวกันก็ได้แจ้งเตือน พี่น้องประชาชนไม่ให้นำปลาที่ตายจากการน็อคน้ำไปรับประทาน เพราะว่าอาจจะมีเชื้อโรคและสารปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ในขณะเดียวกันเราก็ได้รายงานให้ทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ทราบแล้ว
“พื้นที่ตรงนี้ได้ทราบข้อมูลจากทางกลุ่มผู้ใช้น้ำว่าพื้นที่ตรงจุดนี้จะมีปัญหาทุกปี ซึ่งเกิดจากสถานที่กักเก็บน้ำจากบ่อขยะมีปริมาณน้ำมาก ซึ่งคาดว่าจะเกิดการทะลักทำให้คันกั้นขาด จึงขอฝากทางหน่วยงานที่เป็นเจ้าของบ่อกำจัดขยะ ให้ดำเนินการทำคูกั้นน้ำให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม เพื่อปัญหาจะไม่ได้เกิดซ้ำซากขึ้นอีก” นายอำเภอดอนจานกล่าวเสริมท้าย
ด้านนายจรรยา ทัดบุปผา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.ม่วงนา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างห้วยแกง ยืนชี้ตรงจุดที่ชาวนาได้อาศัยน้ำในลำห้วยสูบขึ้นมาทำนาปรัง เล่าว่า “ชาวนาได้สูบน้ำขึ้นมาแล้วเห็นสภาพน้ำดำเหมือนจะมีสารพิษตกค้าง จึงได้ปล่อยน้ำทิ้ง ทำให้เห็นสภาพต้นข้าวกำลังเหลืองจะแห้งตายแล้ว ก็คงทำได้แค่รอผลการตรวจน้ำที่ส่งไปตรวจที่จังหวัดขอนแก่น ว่าน้ำจะเสียขนาดไหน เป็นพิษขนาดไหน เป็นอันตรายต่อพืช หรือปลาเท่านั้น ก็ได้แต่ถามทางเจ้าหน้าที่ที่นำตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ที่จังหวัดขอนแก่น ว่าระยะเวลาไป-กลับ 1 เดือน ผลตรวจจะกลับมาถึงชาวบ้านที่นี่หรือไม่ กลัวต้นข้าวในนาจะตายก่อน จึงขอฝากหน่วยงานที่เป็นเจ้าของบ่อกำจัดขยะ ให้เร่งแก้ไขโดยด่วนด้วย”
พื้นที่บ่อขยะอยู่ที่บ้านหัวนาคำ ต.กลางหมื่น อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์
ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊กพระครูโพธิจันทคุณ สุริโย