เช้าวันนี้ (14 พ.ย. 2565) ที่หอประชุมจังหวัดกาฬสินธุ์ ภายในศูนย์ราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ได้จัดพิธีถวายราชสักการะพานพุ่มมดอกไม้สด เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2565 โดยมีนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายธนภัทร ณ ระนอง ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง
วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี อีกทั้งเป็นวันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ของรัชกาลที่ 9 ในการพระราชทานเทคโนโลยีฝนหลวงเพื่อบรรเทาภัยแล้งแก่ราษฎรชาวไทย วันฝนหลวงมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ติดตามจากบทความนี้
รู้จัก “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” คืออะไร?
วันพระบิดาฝนหลวง คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 และทรงรับรู้ปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ที่ส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตรของประชาชน หลังจากนั้นทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ภัยพิบัติความแห้งแล้ง มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรู้จักกันว่า “ฝนหลวง” ในเวลาต่อมา ทำให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายน ถูกกำหนดให้เป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9
ประวัติวันบิดาแห่งฝนหลวง มีความเป็นมาอย่างไร?
จุดเริ่มต้นของโครงการในพระราชดำริ “ฝนหลวง” เกิดขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อนจากภัยแล้งของราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทรงมีพระราชดำริแก้ปัญหาฝนแล้งด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยสร้างฝนเทียมขึ้นมาผ่านวิธีการรวมเมฆ เพื่อให้เมฆเหล่านั้นทำให้เกิดฝนตกบรรเทาความแห้งแล้ง
รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรวิศวกรรม จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยและค้นคว้า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา และเริ่มทำการทดลองจริงครั้งแรกใน พ.ศ.2512 พบว่าประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นรัชกาลที่ 9 ทรงติดตามอย่างใกล้ชิดเสมอมา ทรงโปรเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
สำหรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีฝนหลวงเกิดขึ้นเมื่อมีการดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝน ผ่านกระบวนการ “ก่อกวน-เลี้ยงให้อ้วน-โจมตี” ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานในการปฏิบัติการฝนหลวงแบบหวังผล ในปี พ.ศ.2516 ในภายหลังมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และสภาพอากาศประจำวัน ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยด้วย โดยมีการศึกษาเรื่องของการใช้สารเคมีแบบสูตรสลับกลุ่มเมฆ ที่จะทำให้เกิดการก่อตัวในหุบเขา รวมถึงเทคนิคการทำฝนจากเมฆอุ่น ซึ่งสามารถทำให้เกิดฝนเทียมขึ้นได้นั่นเอง
จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ.2541-2542 ประเทศไทยเกิดภัยแล้งอย่างหนัก รัชกาลที่ 9 ได้ พระราชทานให้เริ่มใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้งเป็นครั้งแรก และมีการใช้ “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542 ซึ่งได้กลายเป็นแนวพระบรมราโชบายที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมรับนำไปปฏิบัติจริง
ต่อมา วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2545 คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะพระบิดาแห่งฝนหลวง โดยกำหนดให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อเป็นการสำนึกในพระกรุณาธิคุณล้นพ้น และสืบสานพระราชปณิธานสืบไป
ที่มา : www.prd.go.th, www.huahin.royalrain.go.th