กาฬสินธุ์ เคยเห็นแต่รูปในสลากข้างขวดน้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ ที่มีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และวางขายทั่วไปตามท้องตลาดทั่วประเทศ วันนี้ทุกคนได้มีโอกาสได้มาเห็นตัวจริงของเจ้าของแบรนด์น้ำปลาร้าชั้นนำของเมืองไทยโดย “คุณแม่บุญล้ำ ปรีเรือง” ที่สาธิตขั้นตอนวิธีการทำปลาร้า พร้อมเผยสูตรเด็ดการหมักปลาโดยเน้นความสะอาดทุกขั้นตอนก่อนถึงมือลูกค้า ในงาน “ฮักกาฬสินธุ์#3 โคก หนอง นา ปลาร้าอีสาน” ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 ก.ค. – 3 ส.ค. 2567 ณ บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (หลังเดิม) อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
คุณแม่บุญล้ำ ปรีเรือง อายุ 67 ปี เผยสูตรไม่ลับในการทำปลาร้าจากทำที่บ้านเป็นธุรกิจในครัวเรือน จนปัจจุบันมีโรงงานผลิตปลาร้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกว่า “ตั้งแต่เติบโตมาได้ระดับหนึ่ง ก็ได้มาช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำปลาร้าตั้งแต่เป็นเด็ก ก็เลยยึดการทำปลาร้าเป็นอาชีพหลักในครอบครัว โดยที่ไปที่มาของแม่บุญล้ำตั้งแต่เริ่มต้นก็ขายปลาร้าตัว ยังไม่ได้บรรจุขวดขายเหมือนตอนนี้ โดยปลาร้าตัวที่ทำขายจะใช้ปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลาหมอ ปลาขาวมนขาวนา โดยหลักๆ จะใช้ปลาสร้อยมาหมักทำเป็นปลาร้า เพราะปลาสร้อยมีเนื้อปลาเยอะมากแล้วก้างปลาไม่ค่อยเยอะ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นก็ทำปลาร้าเอง หมักเองอยู่ที่บ้าน แล้วนำมาขายที่ตลาดในเมืองกาฬสินธุ์ จนปัจจุบันรุ่นลูกได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นน้ำปลาร้าต้มสุกบรรจุขวด ภายใต้แบรนด์ “น้ำปลาร้าแม่บุญล้ำ”
คุณแม่บุญล้ำเผยถึงวิธีการหมักปลาร้า โดยสาธิตการหมักโดยใช้ปลาสร้อย เริ่มจากนำปลาสร้อยที่เป็นปลาสดมาล้างน้ำให้สะอาดก่อน แล้วจึงถอดเกล็ดปลา ผ่าท้องเอาไส้ปลาออก แล้วล้างอีกครั้งให้สะอาด แล้วจึงใส่เกลือ (ถ้าจะให้ดีต้องเป็นเกลือทะเลที่มาจากจังหวัดสมุทรสาคร) ตามด้วยข้าวคั่ว (ข้าวจ้าวหอมมะลิ) ที่ต้องคั่วสุกใหม่ๆ แล้วตำให้ละเอียด นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตามอัตราส่วนที่เป็นสูตรต้นตำหรับคือ เนื้อปลา 100 กิโลกรัม, เกลือ 25 กิโลกรัม และข้าวคั่ว 10 กิโลกรัม (10+2.5+1) มนต์เสน่ห์ของการทำปลาร้าคือข้าวคั่วที่ใส่ถ้าเป็นข้าวคั่วที่คั่วสุกใหม่ ใส่ลงไปหมักในปลาแล้วจะทำให้มีกลิ่นหอม หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า ปลาร้ามีกลิ่นโหน่ง พอคลุกเคล้าปลากับส่วนผสมให้เข้ากันแล้วไม่ใช่ว่าจะทานได้เลย เพราะเป็นปลาดิบอยู่ ต้องใส่ขวดโหล หรือเมื่อก่อนจะหมักใส่ไห หรือโอ่งมังกร แล้วปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 8 เดือน ถึงจะนำมารับประทานได้ โดยการทำปลาร้าแบบนี้ ยังถือเป็นวิธีการถนอมอาหารของคนอีสานบ้านเรา ที่สามารถเก็บปลาร้าไว้รับประทานได้หลายปี จนตอนนี้ผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าต้มสุกของแม่บุญล้ำส่งออกไปขายได้ทั่วโลก สร้างคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนได้มีงานทำหลายร้อยชีวิต จึงขอฝากถึงคนที่จะทำปลาร้าขาย หรือเก็บไว้ทานเอง ต้องทำให้สะอาดที่สุด เอาความสะอาดมาก่อน ความใส่ใจมาก่อน ต้องทำให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และถ้าใช้สูตรเนื้อปลา 100 กิโลกรัม, เกลือ 25 กิโลกรัม และข้าวคั่ว 10 กิโลกรัม (10+2.5+1) ก็จะทำให้ปลาร้าหอมตลอด เนื้อปลาก็จะไม่เน่าไม่เปื่อย จะคงคุณภาพอยู่ได้เป็นปีๆ ถ้าใครที่ยังทำไม่เป็นก็ลองทำสูตรนี้ดูรับรองว่าดีแน่นอน แซบแน่นอน
คุณแม่บุญล้ำกล่าวอีกว่า “รู้สึกภูมิใจที่แบรนด์ของแม่บุญล้ำทำได้จนทุกคนเห็นในทุกวันนี้ ที่เราทำได้ก็คือเราเน้นความสะอาดมาก่อน ทำให้ได้คุณภาพ ใส่ใจทุกขั้นตอน และแบรนด์แม่บุญล้ำก็จะทำให้อย่างนี้ไปตลอด ส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือลูกค้า ต้องขอขอบคุณผู้บริโภคด้วยที่สนับสนุนแบรนด์แม่บุญล้ำจนมาถึงทุกวันนี้”
ด้านคุณพิไรรัตน์ บริหาร หรือที่ชาวกาฬสินธุ์รู้จักกันในชื่อ “คุณอ้อม” ผู้บริหารบริษัท เพชรดำฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำปลาร้าต้มสุก ตามแม่บุญล้ำ กล่าวว่า จากจุดเล็กๆของการทำปลาร้าเพื่อบริโภคในครัวเรือนของคุณพ่อสนั่น – คุณแม่ทองสุข ศรีโยธา ในปี 2510 ได้ค่อยๆขยับขยายเติบโต สู่รุ่นลูก คือ คุณพ่ออุทัย คุณแม่บุญล้ำ ปรีเรือง โดยใช้ชื่อกิจการว่า เพชรดำค้าปลาร้า ซึ่งต่อมาในปี 2557 ได้ก่อตั้ง บริษัท เพชรดำฟู้ดส์ จำกัด และมีสินค้าเริ่มแรกคือ น้ำปลาร้าต้มสุกภายใต้แบรนด์ “แม่บุญล้ำ” ของดีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่สร้างรายได้อันยั่งยืนให้กับชาวบ้านในชุมชนโดยรอบ และพัฒนาคุณภาพสินค้าแบบยั่งยืนตามหลักสากล จนกลายเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกระดับประเทศ
“ด้วยประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น ที่สืบทอดมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี และเคล็ดลับการหมักจากรุ่นคุณยาย พร้อมความพิถีพิถัน ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ทำให้น้ำปลาร้าต้มสุกตรา”แม่บุญล้ำ”มีรสชาติเฉพาะตัว หอม อร่อยถูกปากคนไทยจนถึงปัจจุบัน”
คุณอ้อม กล่าวอีกว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของผู้บริโภค ภายใต้กระบวนการผลิตที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล ได้แก่ มาตรฐาน อย. จากคณะกรรมการอาหารและยา GHPs, HACCP Codex จาก SGS แห่งประเทศไทย มาตรฐาน GMP, HACCP จากกรมประมง มาตรฐาน FDA ของ USA และ มาตรฐาน HALAL เพื่อพี่น้องมุสลิมได้บริโภคได้อย่างมั่นใจ เราสัญญาว่าจะรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และพัฒนาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ต่อไป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “แม่บุญล้ำ” เป็นหนึ่งในเครื่องปรุงที่ช่วยสร้างสรรค์ความอร่อย และความสุขในทุกครัวเรือนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดก็คือ “น้ำยำแม่บุญล้ำ”
จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมชม ชิม ช้อป ในงาน “ฮักกาฬสินธุ์#3 โคก หนอง นา ปลาร้าอีสาน” จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป กลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (หลังเดิม) ซึ่งเป็นการรวมผลผลิตของดีจาก โคก หนอง นา รวมสุดยอดปลาร้าแซบนัวทั่วภาคอีสานไว้ที่เดียว เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์สินค้าครัวเรือน ชุมชน และสินค้าโอทอป และในแต่ละวันยังมีการแสดงจากศิลปิน และนักร้องชื่อดัง สลับหมุนเวียนกันขึ้นเวทีสร้างความสนุกให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมกันทุกวันอีกด้วย โดยงานเริ่มตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่า ISAN GASTRONOMY ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, มิตรเอิร์ธ – mitrearth, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น, World Wide Fund For Nature, thaipost ได้เปิดเผยว่าน้ำปลาร้าแม่บุญล้ำของจังหวัดกาฬสินธุ์ มีรายได้ปี 2566 ถึง 905 ล้านบาท ส่วนปลาที่นิยมใช้ทำปลาร้า ประกอบด้วย ปลาช่อน, ปลากระดี่, ปลาสร้อย, ปลาตะเพียน, ปลาชะโด, ปลานิล, ปลาสร้อยดาว, ปลาซิว, ปลาขาว, ปลากด, ปลาบึก และปลาเทโพ
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com