AIS ลงพื้นที่มอบเครื่องสีข้าวช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ลดค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้ บูรณาการความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ นำนวัตกรรม และการวิจัยขับเคลื่อนด้านการผลิตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและสังคม ตั้งแต่การปลูกจนถึงขบวนการแปรรูป และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ด้านพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น ร่วมผลักดันผลิตภัณฑ์ข้าวทับทิมชุมแพออกสู่ตลาด เสริมศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรตำบลโนนอุดม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นางสาวอ้อยใจ คำบุญเรือง นายอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ในนามของกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าวว่า การ่วมมือของทุกฝ่ายในวันนี้ เกิดจาก ที่คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาข้าวทับทิมชุมแพ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่มีสารพฤกษเคมีสูง ทั้งสารแอนโทไซยานินและโปรแอนโทไซยานิน ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น ได้ช่วยวางแนวทางและยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวทับทิมชุมแพ แปรรูปและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ อาทิ น้ำนมข้าวทับทิมชุมแพ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ข้าวทับทิมชุมแพสำเร็จรูปพร้อมทาน ฯลฯ ตลอดจนแบบแปลนสถานที่ผลิตและบรรจุข้าวสารทับทิมชุมแพที่สอดคล้องตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจชุมชนยังขาดแคลนเครื่องจักรสีข้าวเพื่อแยกข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวกล้อง โรงเรือนสำหรับเป็นสถานที่ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบัน ยังต้องอาศัยการว่าจ้างโรงสีข้าวจากชุมชนอื่น กอปรกับกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น”
นายวิศรุต พิศาล หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ AIS กล่าวว่า “AIS นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นแล้ว เรายังตระหนักถึงการสร้างสังคม รวมทั้งคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นในทุกมิติอย่างยั่งยืน การที่ AIS ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ถือเป็นการต่อยอดการบูรณาการความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อผลักดันศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพการเกษตรตำบลโนนอุดม หรือกลุ่มข้าวทับทิมชุมแพในครั้งนี้ ด้วยการมามอบเครื่องสีข้าว เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตข้าวทับทิมชุมแพ ที่เป็นข้าวทางเลือกเพื่อสุขภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการเช่าเครื่องสีข้าวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ส่งผลก่อให้เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน จากการที่มีปริมาณการผลิต ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ต่อไป
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า 3 พลังที่บูรณาการความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน/วิสาหกิจชุมชน เพื่อเติมเต็มให้แผนกลยุทธ์นวัตกรรม (Innovation Roadmap) ชัดเจนและต่อเนื่อง การสนับสนุนของ AIS ครั้งนี้จึงถือเป็นการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เพื่อต่อยอดจากต้นน้ำไปสู่การยกระดับมาตรฐานอย. GMP HACCP ในระบบกลางน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ยังคงมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนองคาพยพให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการวางแผน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อนำวัตถุดิบท้องถิ่น ‘ข้าวทับทิมชุมแพ’ ยกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสู่โอกาสทางการตลาดในระบบปลายน้ำ และผลักดันให้ไปถึงปลายทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มั่นคง มั่งคั่งในอนาคตต่อไป
นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงบทบาทของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่นในฐานะภาคีเครือข่ายที่ร่วมผลักดันผลิตภัณฑ์ข้าวทับทิมชุมแพออกสู่ตลาด โดยได้สนับสนุนให้วิสาหกิจชุมส่งเสริมอาชีพการเกษตรตำบลโนนอุดมฯ ได้ออกบูทประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้างาน THAIFEX ในปี พ.ศ. 2565 และพ.ศ. 2566 โดยปัจจุบันได้วางจำหน่ายในช่องทางออฟไลน์แล้วในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อาทิ ร้านโอทอปที่ว่าการอำเภอชุมแพ ร้านโอทอปศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ร้านของฝากอิหล่าคำแพง ท่าอากาศยานขอนแก่น โดยวางแนวทางต่อยอดในตลาดต่างภูมิภาค ตลาดออนไลน์ ตลอดจนการขยายสู่ตลาดต่างประเทศแก้วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารในอนาคตอีกด้วย
สนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวทับทิมชุมแพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร 043 048 048 ต่อ 120