วันนี้ (17 ก.พ. 2567) เวลา 13.30 น. ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา เรื่อง “Life Skill for Smart Elderly ทักษะชีวิตสำหรับผู้สูงอายุในยุค Disruption” โดยมีนายณัฐวุฒิ บัวประทุม คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และที่ปรึกษา เป็นประธานเปิดงาน พร้อมคณะ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 200 คน
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม กล่าวในนามของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และที่ปรึกษากรรมาธิการว่า จากที่ทราบกันดีว่าจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากร และมีจุดเด่นด้านความอุดมสมบูรณ์จึงได้ชื่อเล่นเรียกขานนามว่า “กาฬสินธุ์เมืองน้ำดำ” ด้วยความอุดมสมบูรณ์นี้จึงทำให้ประชากรในจังหวัดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ 28 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า ปี 2563 จังหวัดกาฬสินธุ์มีเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตร รวมทั้งสิ้น 2,832,890 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 65.25 ของพื้นที่ทั้งหมด และมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 274,107 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 88.10 ของครัวเรือนทั้งจังหวัด โดยมีพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ คือ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน รองลงมา คือ ยางพารา แตงโม ปาล์มน้ำมัน และพุทรา มีสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ คือ โคเนื้อ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ดไข่ กระบือ สุกร และโคนม และในปี 2559-2563 มีการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เฉลี่ย 5,917,134.738 กิโลกรัม มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิตมากมายและมีคุณภาพดี เป็นสินค้าหล่อเลี้ยงผู้คนในหลายจังหวัดในประเป็นเทศไทย จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นครัวของคนไทยได้ ด้านการท่องเที่ยว จังหวัดกาฬสินธุ์มีต้นทุนที่สูงและสามารถพัฒนาเป็นจุดเด่นได้ คือ เรื่องซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในทวีปเอเชีย รวมถึงมีวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งเมืองโบราณสมัยทราวดี หรือแม้กระทั่งเขื่อนลำปาว เขื่อนสันดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
แต่ถึงกระนั้นด้วยความสมบูรณ์ของทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่สามารถนำสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดได้เลย จังหวัดกาฬสินธุ์เองเป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรังติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี และจากข้อมูลรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2562 จังหวัดกาฬสินธุ์มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดปัตตานี โดยมีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ร้อยละ 31.26 โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,465 บาท ต่อคน/เดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยความยากจนของไทยที่อยู่ที่ 2,762 บาทต่อคน/เดือน ตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 13.10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ
จังหวัดกาฬสินธุ์เองมีจำนวนประชากร ราว 980,000 คน ซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 170,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่าจังหวัดกาฬสินธุ์ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุประสพปัญหาความยากจนเรื้อรัง อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และปัญหาด้านเศรษกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่รุมเร้า สะท้อนภาวะปัญหาคนกาฬสินธุ์กำลังก้าวเข้าวัยสูงอายุแบบไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งภูมิคุ้มกันที่ว่าคือสัมปชัญญะในการรับมือกับภาวะปัญหาต่างๆ ที่ผู้สูงอายุกำลังเผชิญอยู่ ทั้งปัญหาความยากจนเรื้อรัง หลายพื้นที่ผู้สูงอายุนอกจากจะมีรายได้ที่น้อยอยู่แล้ว หลายคนต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูบุตรหลานที่ถูกทอดทิ้งไว้จากบุตรที่ต้องไปทำงานต่างถิ่น ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุโดยส่วนใหญ่มีปัญหาโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยยังไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต ทั้งภายในบ้าน และในบริบทสาธารณะที่รัฐควรสนับสนุนให้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกระทบร่างกายและเกิดภาวะช่วยตนเองไม่ได้เรื้อรัง ที่สำคัญปัญหาด้านการป้องกันตนเองจากอาชญากรรมออนไลน์ อย่างที่ทราบกันดีว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของอาชญากรรมออนไลน์มุ่งเป้ามาที่ผู้สูงอายุ และตามภาพข่าวที่ผ่านมาก็จะพบเห็นผู้สูงอายุตกเป็นผู้เหยื่ออยู่จำนวนมาก มูลค่าเสียหายสูง ผู้สูงอายุหลายคนหมดเนื้อหมดตัวล้มละลายกันจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุล้วนกำลังเผชิญอยู่อย่างไร้ภูมิคุ้มกัน
คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งประสานกับองค์กรภายในประเทศ ต่างประเทศ และประชาคมนานาชาติ เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีหน้าที่และอำนาจข้างต้น ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องนี้ จึงได้นำกรณีศึกษาของจังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นพิจารณา จึงได้จัดโครงการสัมมนา เรื่อง “Life Skill for Smart Elderly ทักษะชีวิตสำหรับผู้สูงอายุในยุค Disruption” ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาให้ผู้สูงอายุมีทักษะในการใช้ชีวิตด้วยตนเองอย่างมีภูมิคุ้มกันในทุกๆ ด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการจัดสภาพแวดล้อม ด้านสาธารณสุข รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันจากมิจฉาชีพทุกช่องทาง ทั้งทางออนไลน์ และแบบออฟไลน์ จึงได้จัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการที่พึงได้รับจากภาครัฐ
หลังจากนั้น ดร.ชวลิต กงเพชร นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้บรรยายให้ความรู้เรื่อง “การพัฒนาเมืองแห่งสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ” จากนั้นเป็นการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “การดูแลตนเองด้านสุขภาพ โภชนาการและการลดอุบัติเหตุ” โดยผู้แทนกลุ่มงานศัลยกรรมกระดูกและข้อโรงพยาบาลกาฬสินธุ์, “การพัฒนาตนเองทางด้านอาชีพ และการทำงานที่เหมาะสม” โดยผู้แทนจากศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดกาฬสินธุ์, “การดูแลตนเองและการเอาตัวรอดจากอาชญากรรมออนไลน์” โดยผู้แทนจากสถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์ และ “การสร้างกิจกรรมและการดูแลตนเองจากภายใน” โดย ดร.ทพ.ญ.ชัญญา ธีระโชติ หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ตามลำดับ
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com