วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.๐๐ น. จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ น.ส.พิมพ์ณดา โชติธนพนธ์ปภัส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ นายคำรณ ไชยศิริ และ น.ส.ชญาณภัศร์ สินธุศิริ พนักงานฯ พร้อมด้วย นายณรงค์ ขูรูรักษ์ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ ประชุมเชิงปฏิบัติการ(Workshop) ร่วมกับ นางหวัน พรหมวงศ์ ประธานกลุ่มทอผ้าลายไดโนเสาร์(ศูนย์เรียนรู้แก้จนคนพอเพียง) บ้านสิงห์สะอาด ม.6 ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ และสมาชิกกลุ่มฯ เพื่อหารือความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาผ้าพื้นเมืองผืนใหญ่และผ้าไหมลายไดโนเสาร์ พร้อมตัดเย็บเป็นเสื้อลายไดโนเสาร์ จำหน่ายเป็นสินค้าท่องเที่ยวตามนโยบายกาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก หรือสินค้าท่องเที่ยว TPOT (Tourism Product of Thailand) โดยกำหนดเป้าหมาย ให้ได้เสื้อลายไดโนเสาร์ตัวแรกนำไปมอบให้กับ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประวัติศาสตร์การวิจัยพัฒนาสินค้าเสื้อผ้าลายไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์แบบครั้งแรกของประเทศไทย
ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนซอฟเพาเวอร์กาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก และการผลิตสินค้าท่องเที่ยว TPOT Kalasin Geopark ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์โดยการประสานงานของ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ วิจัยพัฒนาผ้าพื้นเมืองผืนใหญ่และผ้าไหมลายไดโนเสาร์ พร้อมตัดเย็บเป็นเสื้อพื้นเมืองและผ้าไหมลายไดโนเสาร์ที่สวยงาม เป็นอัตลักษณ์สินค้าท่องเที่ยวกาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก โดยปัจจุบันสมาชิกกลุ่มจำนวน 2 คน สามารถออกแบบลายผ้าฝ้ายไดโนเสาร์ได้แล้ว และเริ่มทำเป็นลายเล็กประดับตามขอบแขน คอ กระเป๋า เสื้อผู้ไทสหัสขันธ์ และเป็นแถบลายผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ
ดังนั้น เพื่อเป็นการวิจัยพัฒนาต่อยอดให้เป็นการทอผ้าลายไดโนเสาร์ผืนใหญ่ ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม พร้อมตัดเย็บเป็นเสื้อที่ออกแบบสวยงาม เป็นสินค้าท่องเที่ยวเมืองไดโนเสาร์โลกอัตลักษณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งประธานกลุ่มฯ มีความยินดีร่วมมือกับแนวทางพัฒนาดังกล่าว โดยจะเริ่มทอผ้าพื้นเมืองลายไดโนเสาร์ผืนใหญ่ พร้อมตัดเป็นเสื้อตัวแรก มอบให้กับนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์การพัฒนาซอฟเพาเวอร์เสื้อลายไดโนเสาร์ตัวแรกแห่งกาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็น Presenter ผ้าลายไดโนเสาร์ Soft Power Kalasin พร้อมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ เชิญชวน ให้หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัด ช่วยสนับสนุนสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร โดยมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จในช่วงปีใหม่ 2567 นี้ ดร.นิรุจน์กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกำหนดกิจกรรมสำคัญเพื่อดำเนินงานร่วมกัน อาทิ 1.พิธีขอขมานำดินฟอสซิลไดโนเสาร์วัดภูกุ้มข้าวมอบให้กับกลุ่มฯและเครือข่าย TPOT Kalasin Geopark เพื่อนำไปย้อมผ้าลายไดเสาร์ 2.อบรมการย้อมผ้าด้วยโคลนฟอสซิลไดโนซอรัส สีธรรมชาติ และมอบเสื้อลายไดโนเสาร์ตัวแรกให้ผู้ว่าฯ 3.ร่วมกันพัฒนาสินค้า Dino Brand อื่นๆ ได้แก่ เสื่อกกลายไดโนเสาร์ หมวกไดโนเสาร์ กระเป๋าไดโนเสาร์ หมอนไดโนเสาร์ ฯลฯ 4.วิจัยพัฒนาผ้าไหมลายไดโนเสาร์กาฬสินธุ์ 5. แกะลายไดโนเสาร์มินิโมเคอร์เซอร์ ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก สายพันธ์ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหน่วยประสานงาน ด้านนโยบายและความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งด้านการวิจัยพัฒนา การผลิต และการตลาด อย่างเป็นระบบครบวงจร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ้าลายไดโนเสาร์ หรือสนใจสั่งซื้อได้ที่ คุณแม่หวัน พรหมวงศ์ โทรศัพท์ 092-1343308 หรือ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลากลางจังหวัด ชั้น 4 โทรศัพท์ 043-816759 ในวันเวลาราชการ
#Kalasin Smart Green City #ผ้าพื้นบ้านและผ้าไหมลายไดโนเสาร์ #Dino Brand
#สินค้าท่องเที่ยว TPOT กาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก #Kalasin Geopark
#Kalasin Jurassic World Thailand #Soft Power of Kalasin