แม่น้ำปาวที่รองรับการระบายจากเขื่อนลำปาว ขณะนี้ได้เกิดน้ำล้นตลิ่งทะลักท่วม ล่าสุดท่วมอีกพื้นที่ 2 อำเภอ นาข้าว 9,000 ไร่ จมน้ำ
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้รายงานสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2566 มีปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาว 2,066 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 104.34% จากปริมาณเก็บกัก 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาว 27.39 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายออก 34.39 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะนี้แม่น้ำปาวที่รองรับการระบายน้ำจากเขื่อนปาวได้ล้นตลิ่ง มีพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอร่องคำ อำเภอฆ้องชัย อำเภอยางตลาด และอำเภอกมลาไสย รวม 19 ตำบล 104 หมู่บ้าน 2,121 ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 29 หลัง พื้นที่การเกษตร นาข้าว ได้รับผลกระทบประมาณ 17,403 ไร่ บ่อปลา 42 บ่อ ถนน 3 สาย
พื้นที่ด้านบนเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่รอบเขื่อนลำปาวและเป็นเอกสารสิทธิ์สัญญาเช่าของกรมธนารักษ์ ได้รับผลกระทบจำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าคันโท อำเภอหนองกุงศรี อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสามชัย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และอำเภอหนองกุงศรี รวม 21 ตำบล 95 หมู่บ้าน 3,120 ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 483 หลัง พื้นที่การเกษตร (นาข้าว) ได้รับผลกระทบประมาณ 13,404 ไร่ พืชไร่ 519 ไร่ วัด 4 แห่ง บ่อกุ้ง 100 บ่อ ถนน 14 สาย คอกสัตว์ 5 แห่ง
ส่วนพื้นที่ปลายน้ำแม่น้ำปาวช่วงตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย น้ำเข้าท่วมนาข้าวเกษตรกร 3,000 ไร่ และตำบลเหล่าอ้อย อำเภอร่องคำ 6,000 ไร่ จมน้ำเป็นวันที่ 4 แล้ว
นายเฉลียว จงเรียน ชาวบ้านสีฐาน ตำบดงลิง อำเภอกมลาไสย บอกว่า ระดับน้ำแม่น้ำปาวล้นตลิ่งเข้าท่วมนาข้าวมา 4 วันแล้ว ข้าวกำลังอุ้มท้อง ระดับน้ำสูงถึงคอ หรือท่วมหัว มีพื้นที่แล้วกว่า 3,000 ไร่
นายจตุรงค์ จงหาญ หมู่บ้านเดียวกัน บอกว่า อยากให้มีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้ดี ทันสถานการณ์ การพร่องน้ำรับพายุต้องแม่นยำ และหลังจากน้ำลดแล้ว ให้รัฐบาลรีบเข้ามาดูแลทำนาปรังในเรื่องปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เป็นการแทนการเสียโอกาสที่นาข้าวได้กลายเป็นแก้มลิง
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com