• อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

กาฬสินธุ์ พัฒนายุทธศาสตร์พัฒนาทุเรียนไดโนเสาร์อย่างเป็นระบบครบวงจร มุ่งสู่สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) และสินค้า Kalasin Geopark

วันที่ 11 กันยายน 2566 เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลากลางชั้น 4 นายวุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ และพนักงาน สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ประชุมหารือ ยกร่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาทุเรียนไดโนเสาร์อย่างเป็นระบบครบวงจร มุ่งสู่สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) และสินค้า Kalasin Geopark โดยเรียกว่า ยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าและพัฒนา “ทุเรียนไดโนเสาร์”

อย่างเป็นระบบครบวงจร ด้วยตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “ กาฬสินธุ์เป็นแหล่งผลิตทุเรียนไดโนเสาร์ ตามเส้นทางบรรพชีวินการค้นพบซากฟอสซิลสัตว์โลกล้านปี (Kalasin Geopark) และได้รับรองการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication/GI) ภายในปี พ.ศ. 2570” ด้วยกลไก ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ประกอบด้วย 9 กลยุทธ์ ได้แก่
1. ประกาศนโยบายสาธารณะวาระการขับเคลื่อนทุเรียนไดโนเสาร์จังหวัดกาฬสินธุ์
2. การบูรณาการแผนพัฒนา Kalasin Geopark การท่องเที่ยวตามรอยไดโนเสาร์ และการขับเคลื่อนทุเรียนไดโนเสาร์อย่างเป็นระบบครบวงจร
3. การศึกษา วิจัย ถอดบทเรียน ส่งเสริมนวัตกรรม การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่เหมาะสม มาใช้ในการบริหารจัดการที่ครบถ้วนทุกด้าน ตั้งแต่ ดิน น้ำ พันธุ์ ปุ๋ย วัสดุ อุปกรณ์ เทคนิคการดูแลรักษา การเก็บผลผลิต คุณภาพและการควบคุม การจำหน่าย การแปรรูป แหล่งทุน และกลไกตลาด
4. การสร้างเครือข่ายภาคราชการ ภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรท้องถิ่น และธุรกิจเอกชน เพื่อร่วมพัฒนาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
5. สร้างเกษตรกรต้นแบบ Mr.Dino Durian กลุ่มทุเรียนไดโนเสาร์(DD) เป้าหมายหลักพื้นที่ 7 อำเภอ(ตามรอยไดโนเสาร์ Kalasin Geopark) + แปลงที่ปลูกแล้ว + พื้นที่ สปก. และเกษตรกรที่สนใจ
6. การพัฒนาแผนงาน/โครงการสร้างมูลค่าและพัฒนาทุเรียนไดโนเสาร์อย่างเป็นระบบครบวงจร ด้วยตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ มุ่งสู่สินค้าการเกษตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) และสินค้า Kalasin Geopark
7. ประสานแหล่งงบพัฒนาทั้งในจังหวัด กลุ่มจังหวัด สถาบันวิจัยและพัฒนาต่างๆ FTA และหรือ หน่วยงานอื่นๆ
8. พัฒนาการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ การสร้างคลิป ภาพยนตร์สั้น การ์ตูน มาสคอททุเรียนไดโนเสาร์ การแถลงข่าวผลงานประจำปี มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงทางผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
9. การออกแบบพัฒนาแบรนด์ไดโนเสาร์ เป็นแบรนด์สินค้าทุเรียนไดโนเสาร์ และสินค้าผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ตามเส้นทาง Kalasin Geopark


ซึ่ง ร่าง ยุทธศาสตร์พัฒนาทุเรียนไดโนเสาร์จังหวัดกาฬสินธุ์ ดังกล่าว สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ จะได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบครบวงจร ต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลากลาง ชั้น 4 โทร. 043-816759 ในวันเวลาราชการ

#ทุเรียนไดโนเสาร์กาฬสินธุ์