วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุม โรงแรมชาร์-ลอง บูทริค อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเกษตรปลอดภัยระดับจังหวัด เป้าหมายเป็นกลุ่มเครือข่ายผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยต้นแบบ จำนวน 10 กลุ่ม ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ปลาส้มเขื่อนลำปาว ปลาดุกย่างไบโอชา และข้าวแด๊ะงาผู้ไท โดยมี ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “กระบวนการพัฒนาคุณภาพสินค้าอาหารปลอดภัยเชื่อมโยงตลาด เพื่อสร้างรายได้ชุมชน” และ นางสุจารี ธนสิริธนากร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันบุญ บ้านดอนแคน อ.ฆ้องชัย บรรยายเรื่อง “การวิเคราะห์เชื่อมโยงเครือข่ายช่องทางการตลาดอาหารปลอดภัย” ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรมุ่งพัฒนายกระดับสินค้าตนเอง ให้เป็นสินค้าคุณภาพดีจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอย่างมาก
ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวขอบคุณ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ และนายมีชัย นาใจดี ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่สนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอาหารปลอดภัย สนับสนุนวิสัยทัศน์จังหวัดที่ว่า มั่งคั่งด้วยอาหารปลอดภัย แหล่งท่องเที่ยววิถีใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจเกษตรกรเกี่ยวกับ แนวคิดการผลิตสินค้าอาหารปลอดภัยที่เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่เป็น Signature โดดเด่นของจังหวัด การผลิตสินค้าให้มีความโดดเด่นและแตกต่าง ความหมายและคุณค่าสำคัญที่จะนำไปสู่การจดจำและซื้อสินค้า ภายใต้คุณภาพที่มีมาตรฐานด้วยความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้บริโภค เชื่อมโยงกับการตลาดในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เป็นสินค้าท่องเที่ยวของจังหวัด
เช่น 1. ปลาส้มเขื่อนลำปาว ผลิตจากปลาตะเพียนเขื่อนลำปาว เป็นปลาจากธรรมชาติที่มีรสชาติดีกว่าปลาเลี้ยง เป็นของฝากจากกาฬสินธุ์ สามารถวิจัยพัฒนาเป็นปลาส้มเขื่อนลำปาวกึ่งสำเร็จรูป เป็นของฝากที่ระลึกการท่องเที่ยวบริเวณเขื่อนลำปาว พื้นที่ อ.เมือง, สหัสขันธ์, หนองกุงศรี, ยางตลาด, ห้วยเม็ก และท่าคันโท 2.ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์, ข้าวเหนียวเขาวง GI เป็นสัญลักษณ์ข้าวคุณภาพสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สัญลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถแปรรูปเป็น ขนมอบกรอบเพื่อสุขภาพ ข้าวแต๋น และเครื่องดื่มเหล้าหวานญี่ปุ่น Amazake 3. สินค้าวัฒนธรรมผู้ไท “ข้าวแด๊ะงาผู้ไทเขาวง” สามารถวิจัยพัฒนาเป็น ขนมขบเคี้ยวสินค้าท่องเที่ยวได้ เนื่องจากวัฒนธรรมชนเผ่าผู้ไท เป็นวัฒนธรรมอันโดดเด่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ และ 4.สินค้าพัฒนาใหม่ “ปลาดุกย่างเพื่อสุขภาพไบโอชา โคกหนองนากาฬสินธุ์” ย่างด้วยระบบโอ่งถ่านไบโอชา ไม่มีสารก่อมะเร็งเหมือนการย่างด้วยถ่านไฟ เป็นปลาดุกในระบบการผลิตโคกหนองนากาฬสินธุ์ ที่ใช้แหนแดงเป็นอาหาร ไม่ใช้หัวอาหารในการผลิต บรรจุในระบบสุญญากาศ เก็บไว้บริโภคได้นานขึ้น เป็นต้น ซึ่งสินค้าอาหารปลอดภัยต้นแบบดังกล่าวนี้ สามารถวิจัย พัฒนายกระดับเป็น สินค้าคุณภาพดีของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นของฝาก สินค้าที่ระลึกจังหวัดกาฬสินธุ์ สำหรับนักท่องเที่ยวได้ จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สร้างรายได้ชุมชน และสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากสินค้าอาหารปลอดภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ในที่สุด ดร.นิรุจน์กล่าว และขอขอบคุณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ไว้ ณ โอกาสนี้
#กาฬสินธุ์พัฒนาสินค้าต้นแบบอาหารปลอดภัย