วันที่ 19 กรกฎาคม2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมพระธาตุขามแก่น ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น(หลังเก่า) นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุม กรณีขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกรจังหวัด โดยมี นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมประชุม พร้อมด้วย นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ และคณะจากสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมด้วย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด 6 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม หนองบัวลำภู พร้อมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อาทิ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์ สำนักงานจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกรจังหวัด และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด อย่างมีประสิทธิภาพ โดย มี ศ.เกียรติคุณ ดร.อารี วิบูลย์พงศ์ เป็นผู้ให้คำแนะนำภาพรวมผ่านการประชุมระบบ ZOOM ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้ร่วมประชุมจำนวน 3 คน คือ ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ นายวีรพงษ์ พลธิรักษา สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ประจำอำเภอฆ้องชัย และนายสมศักดิ์ ผาลาโห หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ
ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ขอให้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ นำเสนอผลงาน พร้อมให้ความเห็นต่อการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตนได้นำเสนอสาระสำคัญคือ สภาเกษตรกรและสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ มาตรา 31 และ 38 ร่วมกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Kalasin Smart Green City เพื่อขับเคลื่อนองค์กร 3 ด้าน คือ 1.มีผลงานเป็นรูปธรรม 2.ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น 3.เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานอื่นในระดับจังหวัด จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในปัจจุบัน ส่วนความเห็นต่อการปรับปรุงโครงสร้าง ภารกิจ ให้มีประสิทธิภาพนั้น เห็นควรนำผลรายงานการศึกษาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง ประโยชน์และปัญหาของสภาเกษตรกรแห่งชาติ มาร่วมพิจารณาด้วย ด้านการประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดที่มีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการจัดประชุมสภาฯ 6 เดือน/ปีนั้น ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของ สมาชิกสภาฯเป็นอย่างมาก เนื่องจากทำให้ขาดความเชื่อมโยงการปฏิบัติงานสู่ระดับหมู่บ้าน ตำบล
ส่วนความเห็นต่อการจัดตั้งให้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นนิติบุคคลนั้น ควรมีการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างจริงจังก่อน ดร.นิรุจน์กล่าว โอกาสนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้กล่าวชื่นชมความตั้งใจการทำงานเพื่อเกษตรกร ของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และมีแนวทางในการพัฒนาบทบาทภารกิจของ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาเกษตรกรจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งด้าน บทบาท ภารกิจ หน้าที่ที่โดดเด่น วิสัยทัศน์ พันธกิจ งบประมาณ การเชื่อมโยง/ประสานงาน การประชาสัมพันธ์ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การตลาด การวางแผนธุรกิจ มาตรฐานสินค้า รวมถึงการปรับสถานะสภาเกษตรกรจังหวัด อีกด้วย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงขอขอบพระคุณไว้ ณ โอกาสนี้
#Kalasin Smart Green City