• เสาร์. พ.ย. 23rd, 2024

ฮือฮา! นักวิจัยค้นพบไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย ตัวแรกของกาฬสินธุ์

ลัคกี้นัมเบอร์ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย ตัวแรกของกาฬสินธุ์

ฮือฮา! นักวิจัยค้นพบไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทยนี้ตีพิมพ์ตรงกับวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 พอดี “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” ไดโนเสาร์ไทยตัวที่ 13 ของไทย นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์

ทีมงานผู้วิจัยท่านหนึ่งของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อมูลบรรยายผลงานการค้นพบครั้งสำคัญครั้งนี้ผ่านเพจ “Paleotoon บรรพตูน” ซึ่งเป็นเพจเว็บไซต์ด้านวิทยาศาสตร์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ว่า “ขอแนะนำ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” Minimocursor phunoienis gen. et sp. nov. ไดโนเสาร์ไทยตัวที่ 13 นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย

ผลงานการวิจัยล่าสุดของแอดมินและคณะครับ ตัวอย่างชิ้นนี้เป็นหนึ่งในไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย ด้วยสภาพตัวอย่างที่เจอเป็นโครงกระดูกเรียงต่อกันแทบทั้งตัว จากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ ยุคจูแรสซิกตอนปลาย (ประมาณ 150 ล้านปี) ตัวอย่างต้นแบบนี้ใช้เวลาอนุรักษ์ตัวอย่างนานมาก ๆ มากกว่า 5 ปี นับเป็นไดโนเสาร์ที่ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตัวแรกของหมวดหินภูกระดึง และเป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียนที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องขอบคุณผู้เกี่ยวข้องกับการขุดค้นและการวิจัยทุกท่านนะครับ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยฝั่งไทย ได้แก่ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ม.มหาสารคาม ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร และฝั่งฝรั่งเศส โดยศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Laboratoire de Géologie de l’Ecole Normale Supérieure, CNRS) สำหรับเนื้อหารายละเอียดข้อมูลของไดโนเสาร์ตัวนี้จะตามมาในไม่ช้า รออ่านได้เร็ว ๆ นี้ครับ

ดาวน์โหลดเปเปอร์อ่านได้ฟรีตามลิงก์ข้างล่างนะครับ
https://www.mdpi.com/2385778

ป.ล. ไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทยนี้ตีพิมพ์ในวันที่ 13 พอดีเลยครับ
#Minimocursor

เอกสารอ้างอิง
Manitkoon, Sita; Deesri, Uthumporn; Khalloufi, Bouziane; Nonsrirach, Thanit; Suteethorn, Varavudh; Chanthasit, Phornphen; Boonla, Wansiri; Buffetaut, Eric (2023). “A New Basal Neornithischian Dinosaur from the Phu Kradung Formation (Upper Jurassic) of Northeastern Thailand”. Diversity. 15 (7): 851. doi:10.3390/d15070851

แล้วล่าสุดที่เพจ “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ” ยังได้จัดทำวิดีโอแล้วโพสต์ข้อความบรรยายประกอบไว้ว่า “ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆขอแสดงความยินดีกับ ดร. ศิตะ มานิตกุล นักวิจัย สังกัด ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้ตีพิมพ์ไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลก ชนิดใหม่ของไทยเรา และเป็นชนิดแรกจากหมวดหินภูกระดึง รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นติดตามได้ในวิดีโอนี้เลยครับ”

สุดท้ายนี้ไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆและ MR.DinoDigger ขอขอบคุณ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่คอยสนับสนุนเราเรื่อยมาและไว้ใจให้เราได้จัดทำวิดีโอนี้เพื่อฉลองการค้นพบใหม่สุดแสนน่าตื่นเต้นนี้ครับ ทีมงานของเรารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมากๆครับ ทางเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสามารถของพวกเราจะเป็นประโยชน์ต่อวงการบรรพชีวินวิทยาในอนาคตต่อไป

เช่นเดียวกันที่เพจ “JobSaurus” ก็ได้โพสต์รูปภาพพร้อมกับข้อความบรรยายเนื้อหาการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดที่ 13 ในประเทศไทยไว้ว่า “ทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี ประกาศการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์และชนิดใหม่ ลำดับที่ 13 ของประเทศไทย “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” (Minimocursor phunoiensis)”

ซากดึกดำบรรพ์ของ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ถูกค้นพบจากหมวดหินภูกระดึงตอนล่าง (the lower Phu Kradung Formation) ยุคจูแรสซิกตอนปลาย (ประมาณ 145 ล้านปีก่อน) ในแหล่งขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ต้นแบบ (holotype) ที่ค้นพบนั้นประกอบไปด้วย กระดูกลำตัว พร้อมขาและหางสภาพสมบูรณ์ กระดูกมือ และชิ้นส่วนกะโหลก ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่เคยค้นพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังมีซากดึกดำบรรพ์ที่อ้างอิงถึง (referred specimens) ที่ถูกค้นพบเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วยชิ้นส่วนกรามล่างและขาซ้ายสภาพสมบูรณ์

ลักษณะเฉพาะของมินิโมเคอร์เซอร์คือ ปุ่มกระดูกรูปสามเหลี่ยมบริเวณกระดูกโหนกแก้มขวา แผ่นกระดูกที่ยื่นออกมาจากกระดูกปีกสะโพก ริมขอบกระดูกบริเวณข้อต่อกระดูกก้นกบ และจำนวนข้อต่อนิ้วมือที่ไม่เหมือนกับไดโนเสาร์ชนิดใด จากการวิเคราะห์ทางวงศ์วานวิวัฒนาการ (phylogenetic analysis) พบว่ามินิโมเคอร์เซอร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของนีออร์นิธิสเชียนแรกเริ่ม (basal neornithischian) หรือกลุ่มไดโนเสาร์กินพืชสะโพกคล้ายนกขนาดเล็ก โดยมินิโมเคอร์เซอร์มีความใกล้ชิดทางสายวิวัฒนาการกับไดโนเสาร์กลุ่มของนีออร์นิธิสเชียนแรกเริ่มอย่างเฮอฉินลู่ซอรัส มัลติเดนส์ (Hexinlusaurus multidens) และนาโนซอรัส อจิลิส (Nanosaurus agilis) ซึ่งล้วนปรากฏตัวในช่วงยุคจูแรสซิกตอนปลาย

มินิโมเคอร์เซอร์ถือได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ชนิดแรกที่ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการของหมวดหินภูกระดึง ซึ่งได้มีการค้นพบไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคหลากหลายชนิดในหมวดหินนี้ เช่น ไดโนเสาร์คอยาวกลุ่มมาเมนชิซอริด (mamenchisaurid) ไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มเมเทรียแคนโธซอริด (metriacanthosaurid) ไดโนเสาร์หุ้มเกราะกลุ่มสเตโกซอร์ (stegosaurid) เทอโรซอร์กลุ่มแรมโฟรินคอยด์ (rhamphorynchoid) จระเข้ อินโดซิโนซูคัส โปเตโมสยามเอนซิส (Indosinosuchus potamosiamensis) และปลาโบราณ อีสานอิคธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichths lertboosi) บ่งบอกให้เห็นถึงความหลากหลายของสัตว์มีกระดูกสันหลังในช่วงยุคจูแรสซิกตอนปลายของประเทศไทย

References
Manitkoon et al., 2023. A New Basal Neornithischian Dinosaur from the Phu Kradung Formation (Upper Jurassic) of Northeastern Thailand. Diversity 15 (7): 851
https://www.mdpi.com/1424-2818/15/7/851
ภาพประกอบโดย วงศ์เวชช เชาวน์ชูเวชช ศิตะ มานิตกุล และสักก์ วีระทวีมาศ

ขอบคุณข้อมูลจาก https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0yERJ1MJR5E5GB6HXi4BHSngfNa6nEK1K9KirtoX62RBR8RRDReZ8mLd3Y5gXnCW8l&id=100063466235205&mibextid=Nif5oz
.
https://fb.watch/lRYDsVvWLb/?mibextid=Nif5oz
.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0Nezc8XTqaoNyhfihgXVU3GfjfjSATnuT3fUDa6hCFY9RrgpMsLCJxHZQ4mQufaM9l&id=100063606996466&mibextid=Nif5oz

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com