วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น. จังหวัดกาฬสินธุ์ โดย สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดเวทีเสวนาสืบประวัติรวบรวมข้อมูลความเป็นมา “28 ปี มะม่วงมหาชนก” เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication: GI) ณ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกและแปรรูปมะม่วงมหาชนกบ้านหนองบัวชุม ต.หนองบัวชุม อ.หนองกุงศรี โดยมี ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสมศักดิ์ ผาลาโห หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ และนางบงกช ผิวคำ รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ คนที่ 2 เป็นผู้ดำเนินเวทีเสวนาฯ มีผู้ร่วมเสวนาให้ข้อมูล ประกอบด้วย ผู้นำเกษตรกรที่ริเริ่มบุกเบิกปลูกมะม่วงมหาชนกตามโครงการพระราชดำริฯ มาตั้งแต่ ปี 2538 จำนวน 29 คน ได้แก่ นางบุญโฮม จิตจักร ประธานกลุ่มฯคนปัจจุบัน นายผ่อง จิตจักร น.ส.สมหวัง จันทะเรือง นายวรพงษ์ เขตสันเที๊ยะ เป็นต้น โดยพบข้อมูลเชิงคุณภาพที่เป็นอัตลักษณ์มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์ คือ ปลูกในเขตพื้นที่ “ดงมูล” ซึ่งในอดีตเป็นเขตป่าไม้เนินเขาอันอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ติดกับเขื่อนลำปาว ครอบคลุมอำเภอหนองกุงศรี ท่าคันโท และห้วยเม็ก ลักษณะดินมีสีเหลือง ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ดินกะเลิ่น” ชั้นล่างเป็นหินแห่ สภาพพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขา สามารถรับแสงอาทิตย์ตอนเช้าได้ดี ทำให้มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์ มีแก้มแหม่มสีสวยแดงจัด เนื้อแน่น รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ มีกลิ่นหอม อร่อย เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งคนไทย และต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น นิยมบริโภคมะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์เป็นอย่างมาก
ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ข้อมูลเชิงคุณภาพ 28 ปีของการบุกเบิกปลูกมะม่วงมหาชนกจังหวัดกาฬสินธุ์ ของผู้นำเกษตรกร จำนวน 29 คน เริ่มต้นที่บ้านหนองบัวชุม ม.2 ต.หนองบัวชุม อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2538 ถือเป็นประวัติตำนานอันทรงคุณค่าที่เป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นของ “มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์” มะม่วงที่ได้รับพระราชทานชื่อจากในหลวงรัชกาลที่ 9 นำมาปลูกโดยเกษตรกรบ้านหนองบัวชุม จำนวน 29 คนๆละ 25 ต้น รวม 725 ต้น ปลูกด้วยระบบเกษตรผสมผสานตามโครงการพระราชดำริ ในพื้นที่ดงมูลซึ่งเป็นดินที่มีคุณสมบัติเฉพาะ คือ เป็นดินเหลือง ชั้นล่างเป็นหินแห่ ติดเขื่อนลำปาว เป็นเกษตรกรรมธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ห่อผลมะม่วง จึงทำให้มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์มีแก้มแหม่มสีแดงสด สวยงาม และมีผลการวิจัยพบว่าสีแดงแก้มแหม่มของมะม่วงมหาชนกมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ เนื้อแน่น รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ มีกลิ่นหอมนาน เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นจะนิยมบริโภคมะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์อย่างมาก และตลาดจะซื้อมะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์ในราคาที่สูงกว่าพื้นทีอื่นๆ ด้วยบทพิสูจน์จากการปลูกมะม่วงมหาชนกในพื้นที่ “ดงมูล” ที่พบว่าให้ผลผลิตดีมีคุณภาพมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ทำให้เกษตรกรในเขตพื้นที่ดงมูล ประกอบด้วย อำเภอหนองกุงศรี ท่าคันโท และห้วยเม็ก ขยายเพิ่มพื้นที่ปลูกมะม่วงมหาชนกมากขึ้น และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นอัตลักษณ์แบบเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ดังนั้น จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงมีนโยบายส่งเสริมการขอขึ้นทะเบียน “มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์” เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indication หรือ GI โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิชาการฯ เพื่อเสนอฯต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในปีงบประมาณ 2566 นี้ โอกาสนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอขอบคุณเกษตรกรผู้บุกเบิกมะม่วงมหาชนก ๒๙ คน ตลอดเวลาอันยาวนานกว่า28 ปีที่ผ่านมา เพื่อสืบสานมะม่วงมหาชนกของพ่อตามโครงการพระราชดำริ ไว้ ณ ที่นี้
#OKAY KALASIN #SMART GREEN CITY
#MAHACHANOK MANGO #GEOGRAPHICAL INDICATION #GI KALASIN