• จันทร์. พ.ย. 25th, 2024

หากินไม่ยากหากมีฝีมือ นักล่าปลาหลาด กับเมนู “ต้มส้มปลาหลาด”

วันนี้จะพามาดูกิจกรรมของกลุ่มเด็กและเยาวชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่อาศัยช่วงเวลาว่างหลังจากเลิกเรียนแล้ว ไม่ไปสร้างความรำคาญให้ชาวบ้านอย่างเช่น ขับรถซิ่ง ที่กำลังเป็นปัญหาระบาดหนักในหลายพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะเส้นถนนตัดใหม่กาฬสินธุ์ – มุกดาหาร สร้างมลพิษทางเสียงให้แก่ช้าวบ้านที่อาศัยบริเวณนั้นเกือบทุกวัน และยังเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ต่างกันกับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ที่ใช้เวลาว่างมาหาอยู่หากินตามวิถีชาวบ้าน ที่ไม่ได้อยู่หรูอยู่สบายเหมือนเด็กในเมืองที่มีห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อให้กินอาหารแพงๆ ได้ แต่มองมาอีกด้านก็ถือว่าเป็นความโชคดีของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ที่ได้เรียนรู้การเอาตัวรอด พึ่งตนเองได้ หากเกิดวิกฤตต่างๆ ขึ้นมา เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ก็จะมีชีวิตรอดอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างแน่นอน

ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง พาเด็กๆ และเยาวชน บ้านต้อน ต.เหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่พักอาศัยในหมู่บ้านที่มีลำคลองชลประทานติดกับหมู่บ้าน ได้อาศัยช่วงวันหยุด และหลังเลิกเรียน พากันออกหาล่าปลาหลาด เพื่อมาทำเมนูสุดพิเศษ “ต้มส้มปลาหลาด” รับประทานร่วมกันกลางทุ่งนา ที่คนอีสานเรียกว่า “กินข้าวป่า” เป็นกิจกรรมของครอบครัวคนอีสาน ที่มักจะทำอาหารทานร่วมกันที่ละหลายครอบครัว ใครมีเมนูไหน ก็เอาแต่ละเมนูมาทานร่วมกัน ที่ขาดไม่ได้ก็เป็นเมนูยอดนิยม ตำบักหุ่ง (ส้มตำ) ที่สับมะละกอใหม่ๆ เป็นการใช้วงทานข้าว สอบถามสารทุกข์สุขดิบกัน เชื่อมสัมพันธ์ของครอบครัวให้แน่นแฟ้น เหมือนปั้นข้าวเหนียว

ส่วนวิธีการหาปลาหลาดก็ใช้เทคนิคนิดหน่อย ก่อนอื่นก็ต้องหาเหยื่อล่อที่ปลาหลาดชอบก็คือกุ้งฝอย ใช้สวิงชอนหาตามแหนและวัชพืชที่ขึ้นในลำคลอง แล้วเอากุ้งมาเสียบใส่เบ็ด ลักษณะเป็นเบ็ดเล็กๆ ที่ไม่ต้องไปซื้อมาราคาแพง ประดิษฐ์เอาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้เชือกไนลอนผูกกับกิ่งไม้เล็กๆ แล้วนำเบ็ดไปหย่อนล่อในรูท่อ หรือขอบคลองที่มีรอยแตก ที่คิดว่าน่าจะมีปลาอาศัยอยู่ ซึ่งงานนี้ต้องอาศัยสมาธิและความอดทน ที่ต้องใช้เวลาในการหย่อนเบ็ดล่อปลาให้กินเหยื่อ อาจจะเป็นสิบนาทีกว่าที่ปลาจะกินเหยื่อ ถ้าโชคดีหน่อยปลากินเหยื่อเร็วก็ใช้เวลาไม่ถึง 3 นาที พอปลากินเหยื่อติดเบ็ดแล้วก็ต้องใช้ฝีมือ ใช้สวิงเข้าไปช้อนค่อยๆ ดึงปลาออกมาจากรู ถ้าฝีมือไม่ถึงปลาก็จะหลุดหรือเบ็ดขาด ทีมงานนักล่าปลาหลาดในครั้งนี้ ยังโชคดีได้ทั้งปลาช่อน ปลาบู่ ปลาชนิดอื่นๆ อีกด้วย ถือเป็นวิธีการหาปลาแบบชาวบ้าน ที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือหาปลาอย่างอื่น เช่นการลากอวน หรือทอดแห ที่อาจจะทำให้ปลาเล็กๆ ที่กำลังจะโตต้องติดอวนหรือร่างแหไปด้วย ก่อนที่ปลาเล็กเหล่านั้นจะได้เติบโตขยายพันธุ์ในลำคลอง ให้เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนต่อไป

น้องกระทง เด็กชายธวัชชัย เทพาโส เด็กคนเก่งพระเอกของวันนี้ หาปลาหลาดได้เยอะที่สุด วันนี้ยังได้โชว์ฝีมือการทำ “ต้มส้มปลาหลาด” ให้ทุกคนได้ลิ้มลอง เริ่มต้นด้วยต้มน้ำให้ร้อน ใส่เครื่องเทศ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบแมงลัก มะเขือเทศ เกลือ รอจนน้ำเดือน ก็ใส่ปลาหลาด ปลาช่อน ที่หาได้ลงไปในหม้อ ให้น้ำในหม้อนั้นท่วมตัวปลาแล้วห้ามคนเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เนื้อปลาเยละ รอประมาณ 20 นาที ให้เนื้อปลาสุกถึงด้านใน ก็เติมเครื่องปรุงที่คนอีสานขาดไม่ได้ คือน้ำปลาร้า เติมลงไปประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ หรือครึ่งทัพพี แล้วลองชิม พอรสชาตถูกปากแล้วก็ตักใส่ถ้วยขึ้นมาทานร้อนๆ ได้เลย งานนี้รับประกันถ้าไม่แซบ (อร่อย) ให้ไปหาหมด

คนอีสานเรียกว่า ปลาหลาด หรือปลากระทิง เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลานา มีรูปร่างเรียวยาว มีลักษณะคล้ายปลานา มีลักษณะที่แตกต่างคือ บริเวณส่วนหัวเรียวยาวกว่า ลำตัวเพรียวกว่า ปลายหางแบนและมีก้านครีบเห็นชัดเจน สีลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดง หรือ สีเหลืองมีลายคล้ายกับงูเหลือม มีกระดูกเหงือก 4 คู่ มีขนาดทั่วไปประมาณ 15-30 เซนติเมตร

(เรียกว่านักล่าปลาหลาดจริง ไม่ใช่นักล่าประหลาด หรือนักล่าตัวประหลาด)

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน