กาฬสินธุ์ ภัยแล้งกระทบหนัก เข้าฤดูทำนาแต่ยังไม่มีน้ำให้ทำนา ชาวบ้านหันมาทำบุญและเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป พร้อมกับขอพรฝนตกตามฤดูกาล วอนรัฐบาล และ ส.ส.ทุกพรรค อย่าใส่เกียร์ว่าง ขอให้ช่วยกันแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน แม้ว่าจะมีฝนตกลงมาอยู่บ้างแต่ไม่ทั่วฟ้า ยังไม่เพียงพอที่จะทำนาปลูกข้าว
วันนี้ (8 มิ.ย. 2566) ชาวบ้านหนองหญ้าปล้องทั้ง 4 หมู่บ้าน (หมู่ 6, หมู่ 7 หมู่ 14 และหมู่ 18) จำนวนทั้งสิ้น 375 ครัวเรือน ร่วมกันทำบุญเบิกบ้าน ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์ประจำวัดบ้านและวัดป่า จำนวน 8 รูป มาสวดเจริญพุทธมนต์ และเสกก้อนหินให้เปรียบเสมือนเป็นสิ่งมงคล บริเวณสาหลักเมืองกลางหมู่บ้าน เมื่อครบ เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน รุ่งเข้าของวันที่ 3 ก็จะร่วมกันทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคล ชาวบ้านก็จะนำหินมงคลที่ประกอบพิธีเจริญพุทธมนต์ กลับไปหว่านโปรยตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และสวนไร่นา ขอให้มีความร่วมเย็นเป็นสุข รวมทั้งนำกระทงทำจากเปลือกต้นกล้วย รูปทรง 3 เหลี่ยม “ชาวบ้านเรียกกันว่า กระทงหน้าวัว” ใส่อาหารหวานคาว-ข้าวดำ-ข้าวแดงมาวางตรงเสาหลักเมืองกลางหมู่บ้าน เพื่อประกอบพิธีเช่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน จากนั้นจึงนำกระทงหน้าวัวที่ประกอบพิธีเสร็จแล้ว ไปวางนอกหมู่บ้านตามทางสามแพร่ง เพื่อนำสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน ฟ้าฝนจะได้ตกตามฤดูกาล ชาวบ้านมีความอยู่เย็นเป็นสุข ตามประเพณีของหมู่บ้านที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยจัดทำบุญในเดือน 7 (การนับวัน-เดือนที่นับตามระบบจันทรคติ) ของทุกปีๆ ละ 1 ครั้ง
นายบุญมี สาพาลา (สวมเสื้อสีขาว) อายุ 70 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน อยู่บ้านเลขที่ 104 หมู่ 6 ต.ยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ประเพณีทำบุญเบิกบ้าน หรือ “บุญซำฮะ” หรือบุญเดือน 7 (นับวัน-เดือนตามระบบจันทรคติ) เป็นประเพณีที่ชาวบ้านยึดถือสืบทอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นการทำปล่อยผีออกจากหมู่บ้าน ให้เพื่อคนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อทำบุญเสร็จก็จะมีฟ้ามีฝนตกลงมาตามฤดูกาล ชาวบ้านก็จะได้มีน้ำทำนาปลูกข้าว
นายบุญมี ปราชญ์ชาวบ้าน ยังกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าหลังประกอบพิธีทำบุญเบิกบ้านไปแล้ว ก็จะมีฝนตกลงมาเป็นประจำทุกปี แต่ว่าฝนที่ตกลงมาก็ไม่เพียงพอสำหรับให้ชาวบ้านได้ทำนา รวมไปถึงแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับทำการเกษตรของหมู่บ้านก็ไม่เพียงพอที่จะให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ ก็อยากจะฝากถึงผู้บริหารบ้านเมืองมาช่วยเหลือด้วยการทำฝนหลวง นอกจากนี้ ที่หมู่บ้านนี้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านค่อนข้างแห้งแล้ง แหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการเกษตรไม่พอเพียงต่อการประกอบกิจกรรม
ด้าน นายประยูร ไชยนาเวียง (สวมเสื้อสีลายครีมใส่แมสสีฟ้า) อายุ 68 ปี ตัวแทน ต้นแบบเกษตรอินทรีย์พอเพียง อ. นานม จ.กาฬสินธุ์ อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 7 ต.ยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ประเพณีทำบุญซำฮะ ก็เพื่อของฟ้าขอฝน ขอให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข แต่ก็อยากจะขอความกรุณาไปยังผู้บริหารประเทศ และส.ส.ทุกพรรค ได้หันมาช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องแหล่งน้ำ และประโยชน์ของพี่น้องประชาชนด้วย อย่าทำอะไรเพื่อตนเองขอให้ดูแลพี่น้องประชาชนในเขตของตนเองอย่างทั่วถึง
บุญเดือนเจ็ด บุญซำฮะ
บุญซำฮะหรือชำระ เกิดตามความเชื่อที่ว่าเมื่อถึงเดือนเจ็ดต้องทำบุญชำระจิตใจให้สะอาดและเพื่อ ปัดเป่ารังควาญสิ่งไม่เป็นมงคลออกจากหมู่บ้านบาง ท้องถิ่นเรียกประเพณีนี้ว่าบุญเบิกบ้านซึ่งมีพิธีกรรมทั้งทางศาสนาพุทธและไสยศาสตร์ ในวันงานชาวบ้านจะพากันนำภัตตาหารมาถวายแด่พระภิกษุ สงฆ์และร่วมกัน ฟังเทศน์ฟังธรรม รวมทั้งมีการเซ่นไหว้ศาลหลักบ้าน เพื่อขอความคุ้มครองให้พ้นจากภัยพิบัติและช่วยขับไล่สิ่งไม่ดีไม่งามออกไปจากหมู่บ้าน ให้บ้านเกิดความเป็นสิริมงคล
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน