ภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชน หนุนสร้างภาพยนตร์ SOFT POWER กาฬสินธุ์เมือง JURASSIC WORLD ยกระดับเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ สร้างเศรษฐกิจชุมชน และแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อน SOFT POWER จังหวัดกาฬสินธุ์สู่สากล ด้วยการสร้างภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมการเกษตรเรื่อง กาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก (Kalasin Jurassic World) ครั้งที่ 1/2566 มีหน่วยงานราชการ สถานศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ องค์กรท้องถิ่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาเกษตรกร คณะกรรมการ ก.บ.จ.จังหวัดกาฬสินธุ์ สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยว สำนักงานจังหวัดฯ ร่วมประชุม และมีวิทยากรให้ความรู้คำแนะนำเกี่ยวกับความสำคัญของการสร้างภาพยนตร์ การออกแบบโครงการ และศึกษาความเป็นไปได้ฯ ประกอบด้วย น.ส.นัฏฌธรณ์ คณกร (ครูแก้ว) นักเขียนบทภาพยนตร์ นายธนิตย์ จิตนุกูล (ปื๊ด) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย อาทิเรื่อง “บางระจัน” อ.ดร.สามารถ จันทร์สูรย์ ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน/ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภาพยนตร์ และ อ.ดร.ประสิทธิ์ อินทวงศ์ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน/ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำแผนงานโครงการสร้างภาพยนตร์ของหน่วยงานภครัฐ นายบุญมี แก่นนาคำ นายกเทศมนตรีตำบลโนนบุรี ร่วมเป็นวิทยากร โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการสร้างภาพยนตร์เมืองจูราสสิคเวิลด์ เพื่อยกระดับจังหวัดกาฬสินธุ์ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศ สร้างเศรษฐกิจชุมชน และแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน
ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งที่ 1/2566 เพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับ การขับเคลื่อน SOFT POWER จังหวัดกาฬสินธุ์สู่สากล ด้วยการสร้างภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมการเกษตรเรื่อง กาฬสินธุ์ตำนานเมืองไดโนเสาร์โลก (JURASSIC WORLD) ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน และมีความเห็นที่หลากหลาย อันเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำเป็นแผนงาน/โครงการ เนื้อหาบทภาพยนตร์ ระดับการสร้าง และการเตรียมความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวภายหลังการฉายภาพยนตร์ ที่จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจำนานมาก เป็นต้น โดยมีประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย เนื้อหาของภาพยนตร์ควรประกอบไปด้วยเรื่องราวของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ที่แตกต่างจากที่อื่น ผสมผสานกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ อาทิ ผ้าไหมแพรวา โปงลางสะออน หมอลำ วัฒนธรรมผู้ไท บั้งไฟตะไลล้าน สะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว เป็นต้น ที่เชื่อมโยงผูกเรื่องกับไดโนเสาร์ให้สนุก น่าติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและครอบครัว มีคำแนะนำว่า ไม่ควรสร้างตามอย่างภาพยนตร์ฝรั่งที่เขามีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคมากกว่า อาจเปลี่ยนชื่อจาก JURASSIC WORLD เป็น JURASSIC DER ซึ่งมีความเก๋ไก๋แบบไดโนเสาร์พันธุ์กาฬสินธุ์ที่เป็นพันธุ์ใหม่ของโลก เป็นต้น
การสร้างภาพยนตร์ควรเกิดจากความร่วมมือของคนกาฬสินธุ์ เป็นความภูมิใจของชาวกาฬสินธุ์ทุกคน เมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วจะรู้สึกดีใจที่ได้เกิดเป็นคนกาฬสินธุ์ เป็นการระดมทุนทรัพย์ ทั้ง เงิน อาหาร ที่พัก โดยมี ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาชน ร่วมมือกันอย่างจริงจัง เช่น การระดมทุนเชิงธุรกิจของภาคเอกชน การจัดทำแผนสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนจังหวัด บริษัทเอกชน เป็นต้น สามารถสร้างภาพยนตร์ได้หลายระดับ ตั้งแต่ 5-20 ล้าน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของจังหวัดฯ ซึ่งทีมผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์มีความพร้อมและมั่นใจที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็น SOFT POWER ที่ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ไปสู่เมืองท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศและนานาชาติได้ เพราะช่องทางการจำหน่ายภาพยนตร์มีหลายช่องทางทั่วโลก โดยทีมผู้เชี่ยวชาญการสร้างภาพยนตร์ยินดีให้คำแนะนำและจัดทำแผนงาน/โครงการฯให้
จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้บรรจุการสร้างภาพยนตร์ JURASSIC WORLD ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และจะปรับปรุงแผนในปี 2568 โดยจะนำเสนอแผนการสร้างภาพยนตร์ขับเคลื่อน SOFT POWER เรื่อง JURASSIC WORLD ต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน (ก.ร.อ.) จังหวัดกาฬสินธุ์ครั้งต่อไป
นายฉัตร์ชัยย์ วิรุฬห์วรวุฒิ ประธานหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “งบประมาณคงไม่เป็นปัญหาสำหรับภาคธุรกิจเอกชน หากเนื้อหาภาพยนตร์สามารถเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของจังหวัดกาฬสินธุ์ และสามารถสร้างกำไรได้ เนื่องจากสามารถหาแหล่งทุนข้ามจังหวัดได้”
การสร้างภาพยนตร์ควรสอดคล้องกับการพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ให้เป็นเมืองจูราสสิคซิตี้ เช่น ประตูเข้าเมืองตามเส้นทางต่างๆ ควรมีสัญลักษณ์ไดโนเสาร์ เช่น อุโมงค์ไดโนเสาร์ ซุ้มไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ รูปไดโนเสาร์ตามจุดต่างๆ ตามภูเขาต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่และจำนวนมาก ป้ายหินที่เป็นอัตลักษณ์ ทางม้าลายรูปตีนไดโนเสาร์ ไดโนเสาร์โผล่จากน้ำ ไดโนเสาร์คอยาวที่สุดในโลกโผล่ก้อนเมฆ ที่สามารถมองเห็นจากเครื่องบินขณะลดเพดานลงจอด สถานที่ถ่ายรูปไดโนเสาร์กับพระอาทิตย์ขึ้น หรือพระอาทิตย์ตกดิน และพระจันทร์เต็มดวงที่สวยที่สุด สินค้าผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแบรนด์ไดโนเสาร์ เส้นทางการท่องเที่ยวตามรอยไดโนเสาร์ ที่พักรีสอร์ทโฮมสเตย์บรรยากาศจูราสสิคซิตี้ เป็นต้น
“สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนและทีมผู้กำกับภาพยนตร์ เสนอฯเป็นผู้จัดทำบทภาพยนตร์ตามแนวทางดังกล่าวต่อที่ประชุมครั้งต่อไป ซึ่งผู้ร่วมประชุมทุกคน มีความฝันร่วมกันว่า จังหวัดกาฬสินธุ์จะสามารถสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้สำเร็จได้จริง เป็นความฝันที่เป็นจริงของคนกาฬสินธุ์ทุกคน” ดร.นิรุจน์กล่าว
ภายหลังการประชุม ทีมงานสร้างภาพยนตร์ฯ โดย อ.ดร.สามารถ จันทร์สูรย์, อ.ดร.ประสิทธิ์ อินทวงศ์ และ ดร.นิรุจน์ อุทธา ได้ร่วมกันถอดบทเรียนหลังการประชุม และได้ปรับบทภาพยนตร์เรื่อง “JURASSIC DER” มีเรื่องย่อว่า “เป็นเรื่องราวของหนุ่มสาวที่เดินทางไปค้นหาคำตอบเกี่ยวกับ ตำนานการค้นพบไดโนเสาร์และแหล่งที่อยู่ของไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านการนำเสนอซอฟพาวเวอร์ที่สำคัญของจังหวัดที่หลากหลายและมีคุณค่า เช่น ผ้าไหมแพรวา โปงลาง หมอลำ เขื่อนลำปาว สะพานเทพสุดา บั้งไฟตะไลล้าน ทะเลธุง เป็นเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น และชวนติดตาม” โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุม ก.ร.อ.จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อไป
สำหรับท่านใดที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการสร้างภาพยนตร์เรื่อง JURASSIC DER สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัด โทรศัพท์ 043 726 759 ในวันเวลาราชการ
#OKAY KALASIN SMART GREEN CITY #SOFT POWER KALASIN #JURASSIC WORLD #KALASIN JURASSIC DER