วันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องผาเสวย ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมแผนปฏิบัติการจัดทำคู่มือทางวิชาการเพื่อขึ้นทะเบียน มะม่วงมหาชนก มะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์ และกุ้งก้ามกราม เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ และเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่ม โดยที่ประชุมฯ ได้ร่วมวางแผนจัดทำกรอบการทำคู่มือทางวิชาการฯ จำนวน 6 ด้าน ในแต่ละสินค้า ได้แก่ ชื่อที่จะขอขึ้นทะเบียน ประวัติความเป็นมาและความมีชื่อเสียงของสินค้า วัตถุดิบ คุณลักษณะเอกลักษณ์ของสินค้า ความเชื่อมโยงถึงแหล่งภูมิศาสตร์ และขอบเขตพื้นที่ พร้อมกำหนด Timeline เสนอต่อที่ประชุม GI จังหวัดกาฬสินธุ์ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้
ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนสินค้าเกษตรเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI จำนวน 3 รายการ ครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดชื่อเพื่อขอขึ้นทะเบียนคือ 1. มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์ 2.มะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์ และ 3.กุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ โดยแต่ละสินค้ามีความเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ เนื่องจากจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นแอ่งกระทะที่พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์แหล่งสำคัญของโลก ทำให้องค์ประกอบทางวิทยาศาสตร์ของดินมีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น มีป่าดงมูลที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเขื่อนลำปาวสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบ Probiotic ได้ตลอดปี มีผลการวิจัยทางห้องปฏิบัติการ (LAB) รองรับฯ ทำให้ มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์ มะพร้าวน้ำหอภูสิงห์ และกุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ มีรสชาติอร่อยแตกต่างจากที่อื่น มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผลักดันเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้า GI ของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยที่ประชุมได้กำหนดแผนปฏิบัติการจัดทำคู่มือทางวิชาการเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ GI จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เห็นชอบภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ดร.นิรุจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โอกาสนี้ ขอขอบคุณ ผศ.ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผู้แทนจาก หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางบุญโฮม จิตจักร ประธานกลุ่มมะม่วงมหาชนกหนองกุงศรี นางดอกไม้ เกื้อกูล ผู้แทนกลุ่มมะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์ นายวีรชาติ ภูโปร่ง เลขานุการกลุ่มกุ้งก้ามกรามบัวบานอำเภอยางตลาด และผู้นำเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่ม ไว้ ณ โอกาสนี้
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com