• ศุกร์. พ.ย. 22nd, 2024

อ่วมหนัก! พายุฤดูร้อนถล่ม มหาสารคาม ต้นไม้หักโค่น ทับรถยนต์กว่า 10 คัน จนท.ตัดไม้ โดนเลื่อยตัดแขนหวิดขาด

วันที่ 16 เม.ย. 65 เวลาประมาณ 15.30 น. พื้นที่ตำบลตลาด เทศบาลเมืองมหาสารคาม เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กว่า 1 ชั่วโมง หลังจากฝนหยุดตก ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย จุดแแรกเป็นวัดปัจฉิมทัศน์ พบซากหลังคาโดมขนาดใหญ่ ลมพัดปลิวลงมา กองอยู่หน้าเมรุ ขณะที่ทางวัดก็กำลังมีงานศพ โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

จุดที่สอง ที่วัดศรีสวัสดิ์ ต้นไม้ขนาดใหญ่ได้หักโค่น ทับรถยนต์ ที่จอดภายในบริเวณวัด เสียหายกว่า 10 คัน นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้นำกำลังเจ้าหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมอุปกรณ์เลื่อนยนต์ เข้าช่วยชาวบ้าน เพื่อตัดกิ่งไม้ที่ล้มทับรถยนต์ ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังตัดกิ่งไม้อยู่นั้น ได้เกิดอุบัติเหตุ เลื่อยยนต์ได้ตัดแขนด้่านซ้าย ของนายสันติ ระวังภัย อายุ 47 ปี เจ้าหน้าที่ของเทศบาลฯ แขนหวิดขาด โดนเส้นเลือดใหญ่ เสียเลือดมาก กู้ภัยพระเจ้าศรีโสภณ มหาวิทยาราชภัฏมหาสารคาม ได้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เร่งนำส่งโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อทำการรักษา

ทั้งนี้ เทศบาลเมืองมหาสารคาม ยังได้รับแจ้งความเสียหายอีกหลายจุด ทั้งไฟดับ บ้านเรือนหลังคาปลิว โดยจะได้สำรวจ และจะได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบตามระเบียบราชการต่อไป

ขณะที่ ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย(มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 16-18 เมษายน 2565)” ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 16 เมษายน 2565

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบน ลาวตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันนี้ (16 เม.ย. 65) ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 16-18 เมษายน 2565 โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ จะเริ่มได้รับผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป

จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากภัยดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง และขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางสัญจรผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งอาจเกิดอันตรายจากลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้ สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อ ผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย