สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ตำบลโคกก่อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ได้ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำหน่ายให้กับสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมั่นคงในฤดูการหลังเก็บเกี่ยวข้าว
(8-04-65) ที่พื้นที่แปลงปลูกข้าวโพดติคถนนเส้นระหว่างบ้านกุคแคน-สวนมอญ ต.หนองโน อ.เมืองมหาสารคาม นายธนันชัย สารโคกสูง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน เป็นประธานพิธีเปิดแปลงเก็บเกี่ยวข้าวโพดสดของสมาชิกผู้ผลิตพืชอาหารหยาบคุณภาพ หลังจากได้มีการส่งเสริมอาชีพการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกผู้เลี้ยงโคนม ให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อความต้องการและมีความยั่งยืน
นายณัฐวุฒิ ประที่ปะวณิช ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ได้ส่งเสริมสมาชิกผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์คุณภาพสำหรับเป็นอาหารหลักสำหรับโคนมของสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมของสหกรณ์ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 186 ราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมโค และลดตันทุนตลอดจนเป็นการสำรองอาหารสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยมีสมาชิกกลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์จำนวน 3 ราย พื้นที่ปลูกจำนวน 30 ไร่ ในเขตตำบลหนองโน อำเภอเมืองมหาสารคาม ในฤดูหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว หรือหลังการทำนาปี ระหว่างเดือน มกราคม – เมษายน 2565 ซึ่งคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์อย่างน้อย 100 ตัน โดยสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด รับซื้อราคาหน้าแปลงกิโลละ 1.95 บาท
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลิตเพื่อเป็นอาหารสัตว์ เป็นพืชอายุสั้น ที่ใช้น้ำน้อย หลังการเกี่ยวข้าวแล้วตนเองมีความคิดอยากให้เกษตรกรได้รวมกลุ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อตัดเป็นต้นสด ในช่วงอายุ 75-90 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝักข้าวโพดอยู่ในระยะน้ำนม 50% เหมาะที่จะตัดมาสับบดใส่ถุงหรือถังเพื่อหมักให้ได้ระยะที่เหมาะสม เมื่อโคนมกินจะได้รับโภชนะศาสตร์ที่เหมาะสม แล้วส่งผลให้โคนมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตน้ำนมโคให้มีปริมาณ และคุณภาพที่เพิ่มขึ้น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้งนี้ จะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและยกระดับรายได้เพื่อก้าวสู่วิถีการมีชีพที่มั่นคง
ทั้งนี้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตัดต้นสด จะเก็บเกี่ยวไวกว่าปกติ 30 วัน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และเพิ่มรายได้ครัวเรือนพื้นที่ 1 ไร่ จะได้ผลผลิต 5-6 ตัน หรือมีรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท ต่อไร่ หากดูแลบำรุงรักษาดี ข้าวโพด 1 ต้น จะได้น้ำหนัก 4 กิโลกรัม เป็นการปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ต้นทุนการผลิตลดลง ได้ผลตอบแทนคุ้ม เกษตรกรมีรายได้และมั่นคงในการยังชีพ
พิเชษฐ ยากรี / มหาสารคาม