ม.กาฬสินธุ์ ตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย สร้างนักเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ พัฒนาความรู้ แรงงานฝีมือ ความชำนาญพิเศษที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิต
เช้าวันนี้ (13 ก.ค. 2565) ที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโครงการประกาศนียบัตรนักเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ ประจำปี 2564 (Non degree) โดยมีคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยพันมิตรเครือข่ายที่ร่วมมาเป็นวิทยากรอบรมจากกรมชลประทาน, วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร, มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น, วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์, บริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองก่อสร้าง 2020 จำกัด, บริษัท บ้านเกษตรโลหะกิจ จำกัด และนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการอบรม ร่วมพิธีเปิดอย่างพร้อมเพรียง
อาจารย์สรายุทธ ฐิตะภาส คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ทาโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) หลักสูตรประกาศนียบัตรนักเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ ประจำปี 2564 ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลยุทธการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตและปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ตัวชี้วัดโครงการการให้บริการวิชาการด้านความรู้ เพื่อพัฒนาความรู้ แรงงานฝีมือ ความชำนาญพิเศษที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิต โครงการประกาศนียบัตรนักเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ ประจำปี 2564 งบประมาณทั้งสิ้น 1,200,000 บาท นั้น มีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อสร้างนักเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ด้านการเตรียมดิน การอารักขาพืช ระบบควบคุมอัตโนมัติ และแปลรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้กับกลุ่มเกษตรกร เยาวชนคนรุ่นใหม่ และผู้สนใจในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 40 คน ซึ่งจัดการอบรมระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2565 โดยมีหัวข้อของการฝึกปฏิบัติตามโครงการประกาศนียบัตรนักเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ ประจำปี 2564 ดังนี้
- ปฏิบัติการงานบริการและบำรุงรักษาแทรกเตอร์
- ปฏิบัติการงานบริการและบำรุงรักษารถขุดดิน
- ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการน้ำของกรมชลประทาน
- ปฏิบัติการออกแบบและวางระบบน้ำโรงเรือนอัจฉริยะ
- ปฏิบัติการออกแบบและวางระบบน้ำสำหรับการเกษตร
- ปฏิบัติการงานเครื่องมือวัดและควบคุมทางการเกษตร
- ปฏิบัติการงานประกอบชุดต้นกำลังของระบบควบคุมอัตโนมัติ
- ปฏิบัติการระบบควบคุมอัตโนมัติทางการเกษตร
- ปฏิบัติการการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นพลังงานทดแทน
- ปฏิบัติการการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร
โครงการฯ จัดฝึกอบรมขึ้นในระหว่างวันที่ 13 – 17 ก.ค. 2565 ณ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มีคณะวิทยากรที่มากด้วยความรู้ความสามารถจากพันธมิตรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย อ.ภัคคิป ไกรโสดา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, นายวนัส ทองนาคะ ผู้จัดการ บริษัท ทรัพย์รุ่งเรืองก่อสร้าง 2020 จำกัด, นายทัศน์พล คตจำปา วิศวกรเครื่องกล ชำนาญการ สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน, อ.มานิตย์ จันมี วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร, อ.หอมหวน ตาสาโรจน์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, ผศ.ดร.อัดชา เหมันต์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, อ.พิจิตร บูรพา มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น, นายธีรพงศ์ สิริมณีกร ผู้จัดการ บริษัท บ้านเกษตรโลหะกิจ จำกัด, อ.นิรวิทย์ วงษ์จรัส วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์ และ ผศ.ดร.โกศล เรืองแสน มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ
ด้าน รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ ตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย ประเภทประกาศนียบัตร (Non-Degree) หลักสูตรประกาศนียบัตรนักเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ ประจำปี 2564 ในครั้งนี้ มีความมุ่งหวังเพื่อสร้างผู้เข้าร่วมอบรมเป็นช่างเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ด้านการเตรียมดิน การอารักขาพืช ระบบควบคุมอัตโนมัติ และแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมไปถึงสามารถนำเทคนิคการบำรุงรักษารถแทรกเตอร์และรถขุดดิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการน้ำ การออกแบบและวางระบบน้ำสำหรับการเกษตร การบริการและบำรุงรักษาอุปกรณ์และระบบอัตโนมัติทางการเกษตร การประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นพลังงานทดแทนได้ นอกจากนั้นยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและชุมชนได้ จึงขอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านตั้งใจเก็บเกี่ยวเอาความรู้และประสบการณ์ในการอบรมในครั้งนี้ให้มากที่สุด เพราะต้องผ่านด่านฐานการอบรมทั้ง 10 ฐาน ต้องเรียนรู้จริงทำได้จริง ถึงจะผ่านการอบรมและได้รับมอบประกาศนียบัตรในครั้งนี้
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com