• ศุกร์. พ.ย. 22nd, 2024

“ทีมโปงลางโรบอท” วิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ ผ่านรอบคัดเลือกเข้าชิงถ้วยพระราชทานฯ การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา ครั้งที่ 24

สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดกาฬสินธุ์อีกครั้ง ในเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา รอบคัดเลือก ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 27 – 29 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งรายการนี้เป็นรายการชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี ดร. สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดงาน ณ หอประชุมศรีนนท์ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

“การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา” ของ สอศ. จัดการแข่งมาแล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่ 24 กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ณ หอประชุมศรีนนท์ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี อ.ไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี มีทีมหุ่นยนต์จากสถานศึกษาต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 72 ทีม เพื่อแข่งขันคัดเลือกทีมหุ่นยนต์ จำนวน 36 ทีม เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับชาติต่อไป โดยใช้กติกาการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา ชื่อ “พิชิตวัฏจักรหอคอย สู่แดนภารตะ” ซึ่งเป็นโจทย์การแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยมีประเทศอินเดีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

นายอธิเจตน์ ทิวะสิงห์ ครูผู้ควบคุมทีมโปงลางโรบอท กล่าวว่า “การพัฒนาหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา ในแต่ละปีคณะกรรมการก็จะตั้งโจทย์ให้ไม่เหมือนกัน ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้นำมาต่อยอดให้เกิดหุ่นยนต์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน สำหรับรายวิชาในสาขาทั้งสาขาเทคนิคคอม, สาขาอิเล็กทรอนิกส์, สาขาไฟฟ้ากำลัง แม้กระทั่งสาขาช่างกลโรงงาน ก็ล้วนแต่เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์หุ่นยนต์ทั้งนั้น ส่วนประกอบการทำหุ่นยนต์ส่วนแรกคือแมคคาทรอนิกส์ใช้ความรู้และทักษะในการเชื่อมโลหะ การออกแบบเครื่องมือกลต่าง ๆ ก็จะเกี่ยวข้องกับสาขาช่างกลโรงงานในการจัดทำ ส่วนการควบคุมและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก็จะเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาอิเล็กฯ และไฟฟ้าฯ เพื่อมาต่อยอดและพัฒนาให้เกิดหุ่นยนต์ และส่วนที่ 3 ก็คือส่วนของการควบคุม ถือว่าเป็นหัวใจหลักในตัวหุ่นยนต์ ก็จะเกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ในวิชาไมโครคอนโทรลเลอร์ หรือสมองกลฝังตัว ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญและจำเป็นในอนาคตต่อไป ซึ่งนักเรียน นักศึกษา ก็ได้นำองค์ความรู้ทุกส่วนนี้มาใช้ควบคุมและพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นหุ่นยนต์เพื่อการแข่งขันในครั้งนี้”

“ทุกคนในทีมทั้งคณะผู้บริหาร คณะครู และนักเรียน นักศึกษา ที่เข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้ ก็รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจ ทุกคนเหนื่อยกันมาหลายสัปดาห์ ต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อจะสร้างหุ่นยนต์เพื่อไปแข่งขันในปีนี้ โดยมีความคาดหวังในรอบชิงถ้วยพระราชทานฯ หรือในระดับชาติ ก็คาดหวังว่าทีมโปงลางโรบอทของเราจะติดอันดับต้น ๆ อาจจะเข้าไปถึงรอบ 8 ทีม 4 ทีม หรือรอบชิงชนะเลิศก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นกับองค์ประกอบหลายส่วน ก็ขอฝากติดตามเชียร์ทีมโปงลางโรบอทของวิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ด้วย” นายอธิเจตน์กล่าวเสริมท้ายพร้อมขอแรงเชียร์

นางเพ็ญแข พิมพิไสย รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “ครั้งนี้ถือเป็นความรู้สึกที่ยินดีเป็นอย่างมาก ที่ทีมโปงลางโรบอทของวิทยาลัยการอาชีพกาฬสินธุ์ ได้ผ่านเข้าสู่รอบ 32 ทีม ซึ่งทุกคนต่างติดตามให้กำลังใจคณะผู้เข้าร่วมการแข่งขันมาโดยตลอด โดยหลักแล้วเป็นนโยบายของ สอศ. ที่จะเน้นให้คุณครูและนักเรียน นักศึกษา มีความสามารถที่จะสร้างโรบอท ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะให้แต่ละสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนในเรื่องของหุ่นยนต์ เพราะฉะนั้นเราจึงให้การสนับสนุนเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ อาคารสถานที่ เราเตรียมพร้อมให้ทุกอย่าง และในปัจจุบันนี้บุคลากรของเราก็มีความพร้อม เรายินดีที่จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อการไปต่อในระดับชาติ เราเต็มที่ตรงจุดนี้ และเราคาดหวังมากที่โปงลางโรบอทจะคว้าถ้วยรางวัลพระราชทานฯ เพราะหลังจากทีมงานกลับมาจากการแข่งขันรอบแรกก็ได้เข้าสอบถามว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง โดยได้รับคำตอบจากนักศึกษาและคุณครูที่เข้าร่วมแข่งขันว่ามีส่วนที่ยังมีปัญหาอยู่และต้องการที่จะเร่งปรับปรุง จึงได้แจ้งให้คุณครูได้ทำประมาณการค่าใช้จ่ายขึ้นมาให้ผู้บริหารได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนทุกอย่าง เพราะทำอะไรลงไปแล้วต้องคาดหวังแน่นอน แต่ถามว่าถ้าไปไม่ถึงชิงชนะเลิศผิดหวังไหม ก็ไม่ผิดหวัง เพราะสิ่งที่ได้จากการแข่งขันตรงนี้ทั้งคุณครูและนักศึกษาต่างได้ประสบการณ์ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว”

สำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 36 ทีม ที่ผ่านรอบคัดเลือกการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU อาชีวศึกษา ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จาก 72 ทีม ที่จะได้เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับชาติ ในระหว่างวันที่ 16-19 มิถุนายน 2565 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี
ได้แก่
1. ทีมหางนกยูงโรบอท/วิทยาลัยการอาชีพสังขระ
2. ทีมปาริชาตโรบอท/วิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด
3. ทีมลูกเจ้าพ่อพญาแล/วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ
4. ทีมพิกุลทอง/วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี แห่งที่ 2
5. ทีมโปงลางโรบอท/วิทยาลัยการอาชีพกาพสินธุ์
6.ทีมอาเจียงโรบอท/วิทยาลัยการอาชีพศีขรภูมิ
7.ทีมศรีตะลุง ABU ROBOT 2022/วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง
8.ทีมบั้งไฟซิ่งยโสธร/วิทยาลัยเทคนิคยโสธร
9.ทีมทานตะวัน/วิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซีเมนต์ไทยอนุสรณ์
10.ทีมลูกพระนางจามเทวี/วิทยาลัยการอาชีพบ้านโฮ่ง
11.ทีมโองมังกร/วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี
12.ทีมหลานหลวงพ่อคูณ (ทอง)/วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
13.ทีมเมืองร้อยเกาะ/วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
14.ทีมสุวรรณศร/วิทยาลัยการอาชีพนครนายก
15.ทีมรวงทองโรบอท/วิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง
16.ทีมองครักษ์โรบอท/วิทยาลัยการอาชีพองครักษ์
17.ทีมวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง/วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง
18.ทีมTATC Robot/วิทยาลัยเทคนิคเทคนิคสัตหีบ
19.ทีม B.Tech Robot/วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี
20.ทีมKTC. Dino Robotวิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์
21.ทีมเจ้าพ่อลำพระเพลิง/วิทยาลัยเทคนิคปักธงชัย
22.ทีมเซกาโรบอท 2022/วิทยาลัยเทคนิคเซกา
23.ทีมยูคาลิปตัส/วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี
24.ทีมนิวเซราะกราว/วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์
25ทีมสาเกตนคร/วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด
26.ทีมลูกพญาสิงหนาท/วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน
27.ทีมนายฮ้อยทมิฬ 2022/วิทยาลัยเทคนิคสว่างแดนดิน
28.SKNTC_ ROBOT/วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร
29.ลูกพ่อศรีขุนดาบ/วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร
30.ทีมดอนเมือง/วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง
31.ทีม NBTC Robot 2022 /วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู
32.ทีมลูกพระอมรดลใจ/วิทยาลัยเทคนิคตระการพืชผล
33 ทีมขุนด่านปราการชล/วิทยาลัยเทคนิคนครนายก
34.ทีมลูกพระเข็มมงคลบพิตร วิทยาลัยเทคนิคเขมราฐ
35 ทีมChon Tech/วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
36.ทีมเทคนิคปราจีน/วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com