วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 เวลา 11.00 น. ดร.นิรุตต์ บุตรแสนดี ผอ.สวพ. พร้อมคณะ ส่งมอบผลงานสิ่งประดิษฐ์ชิ้นโบว์แดง ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายสุรวัจน์ ปิติจรัสเชาว์กุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม พร้อมคณะ ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อมอบสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาให้กับชุมชน ในโครงการกังหันน้ำเติมอากาศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับชุมชนสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยแก้ปัญหากุ้งน็อคน้ำ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยท่านยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมให้สถานศึกษาได้บูรณาการการจัดการเรียนการสอน โดยใช้กระบวนการวิจัย โดยเอาสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ที่มีการจัดการเรียนการสอนอยู่แล้วให้มีวิชาโครงงานโครงการ เอาปัญหาเอาอุปสรรคของแต่ละวิชาชีพ มาคิดเป็นโจทย์ แล้วนำเอาความรู้เหล่านั้นมาสร้างเป็นโครงการ ซึ่งก็จะเกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์และพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรม โดย สวพ. ก็ได้รับนโยบายมาจากท่านเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ให้สำนักวิจัยฯ ส่งเสริมสถานศึกษาให้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อที่จะนำไปช่วยชุมชนให้ได้มากที่สุด
ผอ.สวพ. กล่าวอีกว่า ทางสำนักวิจัยฯ เอง ได้ไปทำความร่วมมือกับ สกสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับนโยบายเรื่องการให้ทุนวิจัย เราก็ได้ทำโครงการเข้าไปเสนอแล้วได้ทุนมา แล้วมาให้สถานศึกษาในสังกัด สอศ. ได้เสนอโครงการว่าสิ่งประดิษฐ์ที่สถานศึกษาได้ทำจากวิชาโครงการโครงงานในช่วงเรียน จะเอาไปช่วยชุมชนช่วยสังคมได้อย่างไร โดยวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม โดยท่าน ผอ.สุรวัจน์ ปิติจรัสเชาว์กุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม ทีมงานผู้บริหาร และคุณครู ก็ได้นำเอาโจทย์ตรงนี้ไปให้คุณครูได้พิจารณาว่าเราจะเอาสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่ไปช่วยชุมชนอย่างไร เครื่องนี้ก็เป็นที่มาที่ไปที่วิทยาลัยได้ขอทุนไป ซึ่งเราก็มองเห็นโอกาส เครื่องนี้เป็นเครื่องเติมอากาศให้กับบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งในพื้นที่รอยต่อจังหวัดกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ภายใต้ลุ่มน้ำปาว ลุ่มน้ำชี จะมีอาชีพการเลี้ยงกุ้งเยอะ ก็พบปัญหาว่าในการเลี้ยงกุ้งที่ทำให้กุ้งไม่สามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะที่มีการวิจัยพบว่ากุ้งจะขาดอากาศในช่วงเวลาตี 3 ตี 5 ทางวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคามจึงได้คิดทำเครื่องเติมอากาศกับน้ำในบ่อกุ้ง ซึ่งตรงนี้ก็ได้ทุนสนับสนุนจากสำนักวิจัยฯ ร่วมกับ สกสว. ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้วจึงได้นำมาส่งมอบให้ชุมชนในวันนี้ ซึ่งจะเป็นเครื่องต้นแบบ ถ้าชุมชนเห็นแล้วเกิดประโยชน์ก็สามารถทำเพิ่มได้ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องแบบนี้ถ้าเราซื้อจากต่างประเทศหรือนำเข้ามาราคาแพงมาก ซึ่งทางชุมชนสังคมเข้าไม่ถึง นี่เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีพร้อมใช้ โดยถูกพัฒนาโดยคุณครู และนักเรียน นักศึกษา จากวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งวันนี้เป็นเคสตัวอย่างจากวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม ภายใต้ทีมวิจัยและนวัตกรของวิทยาลัยที่มาช่วยเติมเต็ม
ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม กล่าวขอบคุณคณะทีมงานที่มาส่งมอบเครื่องเติมอากาศว่า เครื่องนี้จะช่วยทำให้กุ้งโตเร็วและน้ำไม่เสียเร็ว ทำให้เกิดออกซิเจน เพราะถ้าให้เกษตรกรทำขึ้นมาเอง คงจะไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้
โดยหลักการการทำงานของเครื่องกังหันน้ำเติมอากาศด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เครื่องนี้ จะใช้ Timer ในการกำหนดช่วงเวลาให้เครื่องทำงาน ราคาต้นทุนวัสดุอุปกรณ์ในการผลิต จำนวน 35,000 บาท
อย่างไรก็ตามสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ยังเป็นเครื่องต้นแบบ ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยี โดยการนำระบบ IoT หรือ Internet of Thing คือ เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกันและรับส่งข้อมูลระหว่างกันได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะสามารถสั่งการและควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็น Smart Device, Smart Home, Network พร้อมกับเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ มีที่จัดเก็บบนคลาวด์และประมวลผลข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้เรายังสามารถควบคุมหรือกำหนดความเป็นส่วนตัว ทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา ซึ่ง IoT มีจุดประสงค์ในการช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น สะดวกสบาย และเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย
ตระกูล ภูพวงเพชร รายงาน
www.kalasinnews.com