กาฬสินธุ์ สอฉ.3 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับโรงไฟฟ้ากมลาไสย ผลิตกำลังคนอาชีวะป้อนตลาดโรงงานอุตสาหกรรม
กาฬสินธุ์ ที่ห้องประชุม 1 บริษัท กมลาไสยไบโอเพาเวอร์ 2010 จำกัด สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 (สอฉ.3) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท กมลาไสยไบโอเพาเวอร์ 2010 จำกัด โดยมีนายสุคนธ์ นาเมืองรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 กับนางปาริฉัตร์ สรรพมงคลไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กมลาไสยไบโอเพาเวอร์ 2010 จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างสถานประกอบการกับสถาบัน เพื่อให้นักศึกษาได้เพิ่มทักษะวิชาชีพ สร้างเสริมประสบการณ์ในสถานประกอบการ และพัฒนาตนเองตามสภาพจริง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ ร่วมผลิตกำลังคนอาชีวะป้อนตลาดโรงงานอุตสาหกรรมของไทย
โรงไฟฟ้ากมลาไสย หรือ บริษัท กมลาไสยไบโอเพาเวอร์ 2010 จำกัด ถือเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งโดย นายสมศักดิ์ วรามิตร อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกาฬสินธุ์ และนางชะม้อย วรามิตร อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่เลขที่ 77/1 หมู่ 5 ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2553 ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า ชีวมวน มีนโยบายและทิศทางดำเนินธุรกิจ ภายใต้ระบบคุณภาพ ISO 9001:2015 และได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบัน URS
ปัจจุบันบริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ ซื่อสัตย์ และ คุณธรรม ทำให้เจริญ มีนโยบาย มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อท้องถิ่นอย่างมั่นคงยั่งยืน และพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นโรงงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังเปิดรับซื้อแกลบตันละ 1,200 บาท รับซื้อไม้ท่อนรวม 700 บาท/ตัน, ไม้ท่อนยูคา 950 บาท/ตัน (หน้า 3 นิ้วขึ้นไป), ไม้ท่อนยูคาเล็ก 400 บาท/ตัน, ไม้กระถินยักษ์ 1,000 บาท/ตัน และไม้ท่อนยางพารา 800 บาท/ตัน และยังเปิดรับสมัครงานหลายตำแหน่ง โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊ก “Kamalasai Bio Power 2010”
โดยสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 (Institute of Vocational education : Northeastern Region 3) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เกิดจากการรวมตัวกันของ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยการอาชีพในกลุ่ม (จังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์) กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เพื่อทำหน้าที่ผลิตปัญญาชน คนอาชีวศึกษาสู่ตลาดแรงงานซึ่งในปัจจุบันถือว่ามีความต้องการสูง และเพิ่มอัตรากำลังคนอาชีวศึกษาให้ได้รับการศึกษาขั้นสูง โดยเปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรี (สายปฏิบัติการ) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยมีศูนย์กลางที่อยู่ภายในวิทยาลัยเทคนิคมหาสาคาม จังหวัดมหาสารคาม
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com