กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กลับมาจัดกิจกรรมขับเคลื่อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร เป็นปีที่ 2 โดยภาคที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นหอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยมีนายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงาน โดยมี รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง
นางศิรดา มะลาสาย วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจในการเสริมสร้างและปลูกฝังค่านิยม วัฒนธรรม คุณธรรมและจริยธรรมที่พึงประสงค์ พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงามให้เป็นที่แพร่หลายในสังคม ตลอดจนการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมโดยใช้มิติทางวัฒนธรรมให้กับคนในชาติ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความพร้อมในการเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ที่ตระหนักถึงบทบาทสำคัญ ของตนเอง บนพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งถือเป็นวัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน และประเทศ เพื่อเป็นแนวร่วมในการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงวัฒนธรรมจึงจัดกิจกรรม “วัฒนธรรมสร้างสรรค์สัญจร” จำนวน 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 ภาคกลางและภาคตะวันออก จัดขึ้น ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567, ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ จัดขึ้น ณ จังหวัดกำแพงเพชร ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567, ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้น ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในวันนี้ และครั้งที่ 4 ภาคใต้ จัดขึ้น ณ จังหวัดกระบี่ ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 800 คน จาก 20 โรงเรียน ซึ่งมีรูปแบบกิจกรรม ประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของเด็กและเยาวชน, นิทรรศการเกี่ยวกับความรู้ในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ และการรับมือการเสพติด สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่มีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ, การเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “Digital Gen วัยรุ่น คิดมันส์ รู้ทันสื่อ” จากวิทยากรและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง, การรับสมัครเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม, การทำกิจกรรมเล่นเกมส์ตอบคำถามกับอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง เกี่ยวกับสถานการณ์สื่อในท้องถิ่นและแนวทางในการแก้ไข
วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวอีกว่า กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นนักเรียน จำนวน 200 คน จาก 5 โรงเรียนในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากองค์กร สถาบัน และเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ประกอบด้วย วิทยากรจากส่วนกลาง มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย เสวนา หัวข้อ “Digital Gen วัยรุ่น คิดมันส์ รู้ทันสื่อ” โดย ดร.กรกช แสนจิตร ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท การบริหารนวัตกรรมการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต, คุณวิวัฒน์ กอสัมพันธ์ ที่ปรึกษาและวิทยากร ด้าน PDPA และ คุณกิตตพร โพธิ์ปี หรือคุณฟิวส์ อินฟูเอนเซอร์ ดารานักแสดงชื่อดังจากช่อง 7HD พร้อมทั้งได้รับการความอนุเคราะห์สถานที่จาก มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้อำนวยการสถานศึกษา ทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์, วิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์, โรงเรียนอนุกูลนารี, โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ และ โรงเรียนเมืองกาฬสินธุ์ นำนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 200 คน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.30 น.
ด้าน นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ปลูกจิตสำนึกค่านิยมเชิงบวก โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมโดยใช้มิติทางวัฒนธรรม ตลอดจนการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงาม ให้เป็นที่แพร่หลายในสังคม การเฝ้าระวังพฤติกรรมหรือลักษณะความเบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตลอดจนการเฝ้าระวังและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมอย่างเป็นระบบ การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับคนในชาติ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย จึงขอขอบคุณ คณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ที่สนับสนุนด้านสถานที่ วิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ สนับสนุน ชุดการแสดง และผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ที่นำนักเรียนเข้ารับการอบรม รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ทำให้การจัดกิจกรรมในวันนี้ประสบผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ด้วยดีทุกประการ
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com