• ศุกร์. พ.ย. 22nd, 2024

กาฬสินธุ์ ชาวบ้านร่วมใจทำข้าวโป่งเอาบุญผะเหวดฟังเทศน์มหาชาติ

ข้าวโป่ง หรือชาวบ้านอีสานเราเรียกกันว่าข้าวเขียบ มีการทำจำหน่ายหรือทำร่วมงานประเพณีทั่วไปในทุก ๆ เทศกาล แต่สำหรับพุทธศาสนิกชน พ่อออกแม่ค้ำวัดป่าไม้แดง ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ จะร่วมใจกันทำข้าวเขียบเมื่อใกล้จะถึงบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด

ซึ่งการทำข้าวเขียบนี้มีมานานแล้ว แต่การทำในช่วงเดือน 4 ทำขึ้นเป็นของฝากให้กับผู้ที่มาร่วมงานบุญผะเหวด นอกจากจะมีการทำอาหารต้อนรับแล้วก็จะต้องมีของฝากติดไม้ติดมือแขกที่ร่วมงานกลับไปด้วย

เอกลักษณ์การทำข้าวเขียบคือการใช้ครกดั้งเดิม เรียกว่า “ครกมอง” ตั้งอยู่ที่วัดป่าไม้แดง ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนบุญเดือน 4 ชาวบ้านก็จะมาช่วยกันทำข้าวเขียบที่วัด ขาวบ้านแต่ละคนก็จะนำวัตถุดิบที่สามารถหาได้มารวมกัน และทำข้าวเขียบร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแม่บ้านที่ว่างเว้นจากการงานของตน พาลูกหลานที่อยู่ในช่วงปิดเทอมมาร่วมสืบสานประเพณีไปด้วย กลายเป็นบรรยากาศที่สนุกสนานและน่ารักไปอีก เป็นการส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นคนอีสานจากรุ่นสู่รุ่น

สีสันการแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำข้าวเขียบ มือใหม่หัดทำข้าวเขียบเป็นครั้งแรก ลืมใส่แผ่นพลาสติกรองก่อนกดข้าวเขียบ

การทำข้าวเขียบ โดยใช้ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ๆ ร้อนๆ นำมาตำในครกมองขนาดใหญ่ ต้องใช้แรงคนเหยียบครกถึง 5 คน เหยียบให้เป็นจังหวะพร้อมกันจนได้ยินเสียงตำครกดังไปไกล ส่วนคนที่อยู่หน้าครกก็ต้องเป็นคนที่มีความชำนาญ เพราะต้องใช้มือปัดข้าวเหนียวที่ตำอยู่ให้โดนตำให้ละเอียดมากที่สุด โดยมีการใส่ไข่ไก่สดๆ เป็นส่วนผสมด้วย เมื่อตำข้าวให้ละเอียดแล้ว ก็ต้องนำมาให้ฝ่ายปั้นข้าวเขียบ โดยการปั้นข้าวเขียบเป็นก้อน ๆ ก่อนนำมาวางในถาดกด โดยใช้แผ่นพลาสติกวางทั้งด้านบนและด้านล่างก้อนข้าวเขียบ หลังจากนั้นก็จะใช้ถาดกดทับก้อนข้าวเขียบให้เป็นแผ่นวงกลม ก่อนนำไปวางเรียงในเสื่อเผื่อตากให้แห้ง โดยขั้นตอนนี้มีลูกหลานมาช่วยกดแผ่นข้าวเขียบ มีจังหวะที่ลืมใส่แผ่นพลาสติกรองก่อนกด ก็จะทำให้ข้าวเขียบติดแผ่นถาดกดตามที่เห็น ก็ต้องแกะข้าวเขียบออกมาปั้นเป็นก้อนแล้วกดใหม่อีกครั้ง

ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com