นักลงทุนแห่จับจองธุรกิจที่สถานีขนส่งสินค้าท่าบกท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทร์ เตรียมพัฒนาพื้นที่อีก 2 พันกว่าไร่เป็นโลจิสติกส์พาร์ค เชื่อมเศรษฐกิจโลก ด้าน 2 นักธุรกิจชื่อดังของจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดอันทรงเกียรติในครั้งนี้ด้วย
1 มิถุนายน 2565 ท่านสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วย ท่านจันทร์ทอน สิทธิไชย ประธานบริษัท เวียงจันทร์โลจิสติกส์ ปาร์ค จำกัด นายเวียงคอน สิทธิไชย รองประธานบริษัทเวียงจันทร์โลจิสติกส์ ปาร์ค จำกัด ท่านสาคร พิรางาม กรรมการผู้จัดการท่าบกท่านาแล้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านระบบโลจิสติกส์ ในสปป.ลาว ร่วมกับ บริษัท สิทธิ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในประเทศไทย ร่วมกันเปิดการเชื่อมระบบรางจากรถไฟไทย ลาว จีน และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าอย่างเป็นทางการ ที่ท่าขนส่งสินค้าท่าบกท่านาแล้ง ซึ่งจากเดิมการขนส่งสินค้าจากไทยมายังสปป.ลาวนั้นจะสิ้นสุดที่สถานีท่าบกท่านาแล้ง จากนั้นจะขนถ่ายสินค้าทางรถบรรทุกไปเชื่อมระบบรางกับรถไฟจีน ที่สถานีเวียงจันทน์ใต้ ระยะทาง 5 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันจีนได้ลงทุนสร้างระบบรางขนาด 1.43 เมตร มายังสถานีท่านาแล้ง ซึ่งการขนส่งสินค้าจะใช้รถเครนยกตู้คอนเทนเนอร์จากขนาดราง 1 เมตร ข้ามมาลงรางรถไฟขนาด 1.43 เมตร แล้วส่งสินค้าไปที่คุณหมิงได้เลย เป็นการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ช่วยประหยัดทั้งเวลา และต้นทุน ทำให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และในโอกาสนี้นักธุรกิจชื่อดังของจังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย น.ส.ชนิดา ตั้งเทวนนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ นายวัชรพงศ์ ชาวสามทอง นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ และนายอาทิตย์ ศรีแก่นจันทร์ ประธานชมรมผู้สื่อข่าว ไทยทีวีสี ช่อง 3 ภาคอีสาน ก็เดินทางเข้าร่วมพิธีเปิดอันทรงเกียรติในครั้งนี้ด้วย
ท่านจันทร์ทอน สิทธิไชย ประธานบริษัทเวียงจันทน์โลจิสติกส์ ปาร์ค จำกัด เปิดเผยว่า โครงการของเราอยู่ในเนื้อที่กว่า 400 กว่าเอกตร้า หรือประมาณ 3 พันไร่ โดยแบ่งออกมาเป็นการสร้างท่าบกท่านาแล้งหรือไดร์พอร์ต 90 เอกตร้า ส่วนที่ก่อสร้างเสร็จแล้วคือ 60 เอกตร้า หรือประมาณ 300-400 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณร้อยกว่าล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระบบรางโลจิสติกส์ระหว่างไทย ลาว และจีน นับเป็นความสำเร็จในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยทั้งหมดเป็นเพียงแค่การดำเนินการเฟสแรกเท่านั้น
ท่านจันทร์ทอน สิทธิไชย ประธานบริษัทเวียงจันทน์ลจิสติกส์ ปาร์ค จำกัด เปิดเผยอีกว่า ส่วนเฟสที่สองที่ยังเหลือพื้นที่สองพันกว่าไร่ จะทำเป็นเขตโลจิสติกส์พาร์ค ซึ่งในเขตนั้นแบ่งออกเป็นโลจิสติก เขตการค้า เขตระบบคลังน้ำมัน อุตสาหกรรมเบา มูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ โดยเขตโลจิสติกส์พาร์คคาดว่ากลางปีหน้าจะเริ่มเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเข้ามาจับจอง ซึ่งการสร้างท่าบกที่เพิ่งสำเร็จใช้เวลาเพียงแค่ 11 เดือน แต่เขตโลจิสติกส์พาร์คที่กำลังจะเกิดขึ้นคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 12 เดือน โดยจะสร้างควบคู่กันกับระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าน้ำประปา เชื่อว่าเดือนมิถุนายน 2023 จะสำเร็จพร้อมเปิดบริการ ซึ่งตอนนี้นักธุรกิจ นักลงทุนไทยให้ความสนใจจำนวนมาก เพราะประเทศลาวมีจุดแข็งเรื่องไฟฟ้ามีต้นทุนอยู่ที่ 2.50 บาทต่อหน่วย ขณะที่ทางไทยอยู่ที่ 5.50 บาทต่อหน่วย หากทำสินค้าแปรรูปทางการเกษตรขนาดใหญ่จะลดต้นทุนได้มหาศาล อีกทั้งยังได้สิทธิพิเศษด้านภาษีอีกด้วย นับถ้านักลงทุนตอนนี้ประเทศไทยมีกว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นก็จะเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ อย่างไรก็ตามจากพื้นที่3พันกว่าไร่ที่ให้นักลงทุนมาจับจอง ตอนนี้เหลือพื้นที่แค่ 20 เปอร์เซ็นเท่านั้น
สำหรับเส้นทางรถไฟลาว-จีน ยาว 422.44 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 33 แห่ง เป็นสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารที่อยู่รวมกับสถานีขนส่งสินค้าในที่เดียวกัน 11 แห่ง ประกอบด้วย สถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้สถานีนครหลวงเวียงจันทร์ สถานีโพนโฮง สถานีวังเวียง สถานีกาสี สถานีหลวงพระบาง สถานีเมืองงาสถานีเมืองไซ สถานีนาหม้อ สถานีนาเตย สถานีบ่อเต็น และมีสถานีหลัก 5 แห่ง คือนครหลวงเวียงจันทร์ , วังเวียง , หลวงพระบาง , นาเตย และบ่อเต็น ที่เหลือเป็นสถานีขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว 21 แห่ง และมีสถานีขนส่งสินค้าเฉพาะอีก 1 แห่งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทร์