วันนี้ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ พามารู้จักหมู่บ้านแห่งความยั่งยืน ชุมชนที่เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยขายได้ปีละเกือบ 200 ล้านบาท นับว่าเป็นแนวคิดดีๆ ของผู้นำชุมชนและความสามัคคีของลูกบ้าน ถือเป็นผู้นำหญิงแกร่งและเก่งมากๆ คนหนึ่งของเมืองน้ำดำ
ที่ศูนย์การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยชุมชนบ้านโปโล หมู่ 13 ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านที่นี่ไม่ยากจน เพราะมีผู้นำชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้านหอม คุณจีรภา พิมล หญิงแกร่งแห่งเมืองน้ำดำ พาชาวบ้านในหมู่บ้านเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยขาย โกยรายได้ปีละกว่า 200 ล้านบาท ในเนื้อที่บ่อปลากว่า 500-600 บ่อ
คุณจีรภา พิมล ผู้ใหญ่บ้านบ้านโปโล หมู่ที่ 13 หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนามผู้ใหญ่หอม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ว่า กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในหมู่บ้านมีทั้งหมด 66 คน 66 ครัวเรือน แต่ว่ากลุ่มที่เข้ามาเป็นวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปลาดุกบิ๊กอุยจะมีอยู่ 30 คน โดยมีการเลี้ยงแบบพันธะสัญญา กับ 4 เถ้าแก่ แต่ละเถ้าแก่ก็จะให้เลี้ยงปลาไม่เหมือนกัน บางเจ้าก็ให้เลี้ยงโดยใช้อาหารสำเร็จรูปไปเลย บางเจ้าก็ให้เลี้ยงโดยใช้อาหารสำเร็จรูปคู่กับโครงไก่บด เพื่อที่จะลดต้นทุนหัวอาหาร โดยมีจำนวนเนื้อที่ในการเลี้ยงปลาดุกทั้งหมด จำนวน 500-600 บ่อ โดยปลาดุกเป็นปลากินเนื้อ ถ้าเราให้เป็นอาหารเม็ดเขาก็กินได้ แต่ถ้าตัวใหญ่ขึ้นมาระยะหนึ่งเราก็จะเพิ่มไก่บด
ด้านต้นทุนในการเลี้ยงปลาดุกเราจะนับกันที่เป็นลูกปลา 1 แสนตัว ราคาพันธุ์ลูกปลาอยู่ที่ 12,000 บาท ตกตัวละ 0.12 บาท ขนาดลูกปลาประมาณ 1 ซม. (เท่าลูกน้ำ) อนุบาลไว้ในบ่อ หลังจากครบ 20-25 วัน ก็จะแยกปลาออกเป็น 3-4 บ่อ ขนาดบ่อ 10×30 เมตร ลึก 1.5-1.8 เมตร เป็นความลึกที่เหมาะกับการเลี้ยงปลาดุก อย่างของแม่หอมเอง ปีที่ผ่านมามีต้นทุนในการให้อาหารอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ที่ผู้เลี้ยงต้องซื้อเองเป็นเงินสด แต่หลังจากนั้นเราก็จะใช้อาหารเม็ดเบอร์ 2 ร่วมกับไก่บด ต้นทุนก็จะอยู่ที่ 250,000 บาทจากเถ้าแก่ในพันธะสัญญา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีรายละเอียดการเลี้ยงปลาที่ไม่เหมือนกัน ต้องดูแลอย่างดี เพราะการเลี้ยงปลาดุกไม่ใช่ว่าปล่อยลงบ่อแล้วเสร็จเลย เพราะเราต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเขามีศรัตรูทั้งในน้ำอย่างกบ ปลาใหญ่ งู ส่วนศรัตรูบนบกก็จะมีพวกนก มีทั้งนกกลางคืน นกกลางวัน ปัญหาปลาเป็นโรคก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของผู้เลี้ยง ทำให้ปลาตาย ก็อยู่ที่เราจะต้องดูแลระบบน้ำ บางคนใช้จุลินทรีย์ ปม.จากกรมประมง หรือพวกโปรไบโอติก ในการบำบัดน้ำในบ่อเลี้ยงปลา อย่างแม่หอมก็ใช้ของ ปม.มาหมักน้ำหมัก มีโปรไบโอติก มีจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง มาช่วยในการบำบัดน้ำ
ผู้ใหญ่หอม กล่าวเพิ่มเติมว่า หมู่บ้านของเรามีการเลี้ยงปลามาแล้วประมาณ 30 ปี ส่วนรายได้ที่ได้บอกไปนั้นเป็นรายได้จริงๆ ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย เฉพาะปลาดุกอย่างเดียวขายวันละ 10 ตัน/วัน ราคาปลาดุกขณะนี้อยู่ที่ 55 บาท/กิโลกรัม รายได้ก็จะประมาณ 198 ล้านบาทต่อปี โดยปลาที่เราเลี้ยงจะมีแม่ค้ามารับถึงปากบ่อ นำไปจำหน่ายทางภาคอีสาน ภาคเหนือก็มี และเรายังมีการแปรรูปปลาดุกจำหน่ายด้วย เช่น น้ำพริกปลาดุก ที่ทำเป็นหลักๆในกลุมวิสาหกิจฯ ของเรา ก็ยังทำไม่เยอะ เพราะตลาดปลาสดของเรามันดีอยู่แล้ว ถ้ามีปลาตัวไหนเกินไซส์เป็นปลาจัมโบ้เราก็เอามาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ถ้าเกษตรกรท่านใดสนใจเลี้ยงปลาก็ยินดีให้คำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 065 928 3198 ก็สามารถมาเรียนรู้ด้วยกันได้
ถือเป็นอีกเรื่องราวดีๆ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ แม่หอม ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโปโล ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กับการพาลูกบ้านทำอาชีพที่สร้างรายได้จากการเลี้ยงปลาและการเกษตรอื่นๆ อย่างน่าชื่นชม โดยสามารถติดต่อเข้าศึกษาดูงานได้ที่เพจ “น้ำพริกปลาดุกบ้านโปโล” หรือโทร. 065 928 3198 (ผู้ใหญ่หอม)
ตระกูล ภูพวงเพชร /รายงาน
www.kalasinnews.com