• ศุกร์. พ.ย. 22nd, 2024

กาฬสินธุ์เปิดตลาด “ธรรมเกษตรอินทรีย์” กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

ที่วัดโพธิ์ชัยวนาราม บ้านหัวงัว อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการยกระดับกลไกการจัดการพื้นที่แบบองค์รวมสู่สุขภาวะชุมชน จังหวัดกาฬสินธุ์ : อิ่ม ออม สร้างสุข ร่วมกับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันจัดงาน “ตลาดธรรมเกษตรอินทรีย์ ขับเคลื่อนโดยโครงการยกระดับกลไกการจัดการพื้นที่แบบองค์รวมสู่สุขภาวะชุมชน จังหวัดกาฬสินธุ์ : อิ่มออม สร้างสุข” โดยนำสินค้าเกษตรจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนามน อำเภอสมเด็จ อำเภอเขาวง และอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ มาร่วมกันขายสินค้า และมีการออกซุ้มขายสินค้าจากแปรรูปจากโครงการ BCG คณะศิลปศาสตร์ และการนำเสนอผลการตรวจสุขาภิบาลร้านอาหารและสารปนเปื้อนในอาหารจากร้านจำหน่ายรอบมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาสาขา สาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยได้รับเกียรติจากนางสาวอ้อมอารี ยี่วาศรี นายอำเภอนามน มาเป็นประธานในพิธีเปิดในครั้งนี้

นายอำเภอนามนกล่าวว่าโครงการยกระดับกลไกการจัดการพื้นที่แบบองค์รวมสู่สุขภาวะชุมชน จังหวัดกาฬสินธุ์ : อิ่มออม สร้างสุข” เป็นโครงการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เพราะเกษตรกรได้มีโอกาสนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย และยังได้ร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมกับพื้นที่อำเภอใกล้เคียง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติและยกระดับกลไกการจัดการพื้นที่แบบองค์รวมสู่สุขภาวะชุมชน นอกจากนั้นยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับรายได้และแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ด้วย

ขณะที่ อาจารย์ กรรณิกา ถุนาพรรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยยกระดับกลไกการจัดการพื้นที่แบบองค์รวมสู่สุขภาวะชุมชน จังหวัดกาฬสินธุ์ : อิ่มออม สร้างสุข” มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 พื้นที่จัดโครงการ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนามน อำเภอสมเด็จ อำเภอเขาวง และอำเภอห้วยผึ้ง การจัดตลาดธรรมเกษตรอินทรีย์เป็นการร่วมกันขับเคลื่อนระบบอาหารของชุมชน สร้างตลาดธรรมเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งร่วมกันเสนอแนะนโยบายด้านการจัดการอาหารปลอดภัย สร้างกลไกการพัฒนาระบบพื้นที่แบบองค์รวมสู่สุขภาวะชุมชน และสร้างองค์ความรู้ เชื่อมโยงการจัดการผลผลิต เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารขึ้นในชุมชน

พระอธิการปัญญา ปญฺญาพโล เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยวนาราม บ้านหัวงัว อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตลาดธรรมเกษตรอินทรีย์เป็นการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มาเจอกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตในเครือข่ายได้นำสินค้าของตัวเองมาจำหน่ายและยังได้ฝึกการขายด้วย ในอนาคตจะมีการสลับหมุนเวียนตลาดไปในพื้นที่อื่นๆที่เป็นเครือข่ายการทำงานเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นในชุมชน

นอกจากเปิดตลาดให้เกษตรกรนำสินค้าเข้ามาขายแล้ว ในงานยังมีการจัดประกวดเมนูอาหารพื้นบ้านอีกด้วยเพื่อเป็นการให้เครือข่ายได้ฝึกการยกระดับผลิตภัณฑ์และการทำอาหารของตนเอง ทั้งเรื่องของรสชาติ ความสะอาด ถูกสุขลักษณะ การคัดสรรวัตถุดิบ และการตกแต่งให้สวยงาม นอกจากนั้นยังมีการออกซุ้มขายสินค้าจากแปรรูปจากโครงการ BCG คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งบรรยากาศในงานเป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนสนใจเข้ามาจับจ่ายใช้สอยกันเป็นจำนวนมาก

ภาพ/ข่าว : ธีรนันท์  ขันตี